xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำตุรกีเยือนจีนท่ามกลางข้อพิพาทผู้อพยพชนกลุ่มน้อยอุยกูร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกีพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เพื่อหารือในกรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ(29ก.ค.) ท่ามกลางข้อพิพาทเกี่ยวกับผู้อพยพชาวอุยกูร์ หนึ่งวันหลังจากอังการาได้รับการหนุนหลังจากนาโต้ในการต่อสู้กับพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส)

อังการากำลังขยายปฏิบัติการข้าพรมแดนต่อต้านกลุ่มไอเอสในซีเรีย และกำลังโจมตีฐานที่มั่นต่างๆของพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน ทางภาคเหนือของอิรัก ตอบโต้กรณีที่เกิดเหตุโจมตีนองเลือดหลายระลอกในแผ่นดินตุรกีในระยะหลัง

นายสี ได้ให้การต้อนรับนายเออร์โดกัน ที่ศาลามหาประชาคมของกรุงปักกิ่ง โดยผู้นำทั้งสองได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ก่อนเข้าไปยังอาคารเพื่อพูดคุยหารือกัน "ณ ปัจจุบัน เรากำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ ที่จะนำความพึงพอใจมาสู่ความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของเราเพิ่มเติม" นายเออร์โดกันบอกกับนายสี
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน(ซ้าย) ให้การต้อนรับประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี(ขวา) ที่ศาลามหาประชาคมของกรุงปักกิ่ง โดยผู้นำทั้งสองได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ก่อนเข้าไปยังอาคารเพื่อพูดคุยหารือกันในวันพุธ(29ก.ค.)
ส่วนทางประธานาธิบดีจีน ย้ำว่าการเดินทางเยือนจีนถึง 3 ครั้งของนายเออร์โดแกน ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี แสดงให้เห็นว่าเขาใส่ใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและตุรกี "เราสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานว่า จีนและตุรกีควรสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็นหลักๆ และกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น"

เมื่อปี 2013 ตุรกีเข้าสู่การพูดคุยกับรัฐวิสาหกิจของจีนแห่งหนึ่งเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายระบบต่อต้านขีปนาวุธมูลค่ากว่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก่อความสงสัยในหมู่สมาชิกอื่นๆของนาโต้ อย่างไรก็ตามแม้ข้อตกลงขั้นท้ายสุดจะมีอุปสรรค แต่เออร์โดกันบอกว่าอังการายินดีที่จะรับข้อเสนอของปักกิ่งเพื่อบรรลุข้อตกลง และการเดินทางเนือนจีนคราวนี้ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของสองประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ตุรกีเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโต้ และเมื่อวันอังคาร(28ก.ค.) ที่ประชุมฉุกเฉินของพันธมิตรดังกล่าวสนับสนุนอย่างแข็งขันในความพยายามต่อสู้กับก่อการร้ายของอังการา แม้บางประเทศแสดงความกังวลว่าการโจมตีถล่มนักรบชาวเคิร์ดอาจกัดเซาะการเจรจาสันติภาพกับกบฏกลุ่มนี้ ที่ก็อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับญิฮัดไอเอสเช่นกัน

การเดินทางเยือนครั้งนี้ยังมีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างอังการาและปักกิ่ง เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ของจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับตุรกีและพูดภาษาเติร์ก
ชาวจีนมอบดอกไม้ให้ประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี ที่ศาลามหาประชาคมของกรุงปักกิ่ง หลังเขาและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ในพิธีต้อนรับที่ด้านอกที่ศาลามหาประชาคมของกรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ(29ก.ค.)
จีน กล่าวโทษพวกแบ่งแยกดินแดนอิสลามิสต์ต่อเหตุความรุนแรงต่างๆในมณฑลซินเจียง ถิ่นฐานของชาวอุยกูร์ ขณะที่ตุรกีแสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของปักกิ่งต่อชนกลุ่มน้อยดังกล่าว โดยในส่วนของ เออร์โดกัน เคยถึงขั้นกล่าวหาจีนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนดังกล่าวมาแล้วในปี 2009

ทั้งสองประเทศโต้เถียงกันอย่างเปิดเผยอีกครั้งในปีนี้ เกี่ยวกับชะตากรรมของชาวอุยกูร์ที่หลบหนีจากจีนเข้าไปในไทย โดย ตุรกี เสนอมอบที่พักพิงแก่พวกเขา แต่เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ไทยตัดสินใจเนรเทศชาวอุยกูร์ราว 100 คนกลับไปยังจีน แม้ก่อนหน้านี้ได้ส่งผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์มากกว่า 170 คนไปตุรกี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนก็ตาม

ในขณะที่ความตึงเครียดเกี่ยวกับผู้อพยพคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เหล่านักเคลื่อนไหวบุกโจมตีสถานกงสุลไทยในอิสตันบูลและเผาธงชาติจีน ด้านนอกสถานกงสุลปักกิ่งในเมืองเดียวกัน กระตุ้นให้จีนออกมาประณามอย่างรุนแรง
ประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี(ซ้าย) จับมือกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ณ พิธีลงนาม ที่ศาลามหาประชาคมของกรุงปักกิ่ง เมื่อวันพุธ(29ก.ค.)
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์แห่งรัฐ ไชนา เดลี ฉบับวันพุธ(29ก.ค.) ระบุว่าประเด็นชาวอุยกูร์ หากไม่ได้รับการใส่ใจก็อาจเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย และทำให้ความร่วมมือหยุดชะงัก" ขณะที่สื่อมวลชนจีนมักอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อเชื่อมโยงชาวอุยกูร์กับความรุนแรงจากฝีมือญิฮัดในตะวันออกกลาง โดยไม่ได้นำเสนอหลักฐานใดๆ

ทั้งนี้ เหวิน เต้า คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส สื่อมวลชนแห่รัฐจีน กล่าวหาเหล่าคณะทูตของตุรกี มอบความช่วยเหลือลักลอบพาพวกก่อการร้ายอุยกูร์จากซินเจียงไปยังตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามนายเออร์โดแกน บอกกับนายสี ระหว่างการหารือว่าตุรกีก็เป็นเหยื่อของก่อการร้ายเช่นกัน

การส่งเสริมการส่งออกของตุรกีมายังจีน น่าจะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสูงสุดของการเดินทางเยือนจีนคราวนี้ของนายเออร์โดแกน โดยเฉพาะการที่อังการา ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลกับเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของโลกอย่างปักกิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น