เอเจนซีส์ – กรีซเริ่มจ่ายหนี้คืนอีซีบีและไอเอ็มเอฟ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งหลังปิดทำการนาน 3 สัปดาห์ กระตุ้นความหวังสถานการณ์เริ่มคืบคลานสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ซีปราสยังมีภารกิจสำคัญรออยู่คือ การผลักดันให้สภาผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปชุดที่สองในวันพุธ (22 ก.ค.) ขณะที่ แมร์เคิล ยืนยันไม่มีการลดหนี้ให้เอเธนส์ แต่อาจประนีประนอมด้วยการขยายเวลาการใช้คืนแทน
รัฐบาลกรีซเริ่มกระบวนการชำระหนี้ทั้งหมด 6,250 ล้านยูโร (6,780 ล้านดอลลาร์) ให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันจันทร์(20 ) โดยการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย 4,200 ล้านยูโรที่ถึงกำหนดชำระ นอกจากนี้ยังจ่ายหนี้ 2,050 ล้านยูโรที่ติดค้างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตั้งแต่วันที่ 30 เดือนที่แล้ว และจ่ายคืนธนาคารกลางกรีซ 500 ล้านยูโร
เงินเหล่านี้ได้มาจากเงินกู้ระยะสั้นของกลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอ็ม) ที่ได้รับอนุมัติจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (17) จำนวน 7,160 ล้านยูโร เพียงพอที่จะให้กรีซอยู่รอดได้ตลอดเดือนนี้
ธนาคารพาณิชย์ของกรีซยังเริ่มเปิดทำการเป็นวันแรกในวันจันทร์(20)นับจากปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ซึ่งคาดว่าได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านยูโร จากปัญหาการขาดแคลนเงินสดและความติดขัดในการส่งออกสินค้า
อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมเงินทุน ซึ่งรวมถึงการห้ามโอนเงินออกนอกประเทศและการเปิดบัญชีใหม่ ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป และตลาดหุ้นยังคงปิดทำการเช่นเดียวกัน
ลูกา แคตเซลี ประธานสมาคมการธนาคารกรีซเผยว่า ประชาชนสามารถเบิกถอนเงินสูงสุดครั้งละ 300 ยูโรจนถึงวันศุกร์ (24) ซึ่งจะเริ่มจำกัดการถอนไม่เกินสัปดาห์ละ 420 ยูโร
แคตเซลียังเรียกร้องให้ประชาชนที่แห่ถอนเงินก่อนหน้านี้นำเงินกลับไปฝากกับธนาคารตามเดิม เพื่อสนับสนุนระบบธนาคาร โดยระบุว่า นับจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีการถอนเงินออกจากแบงก์ทั้งสิ้นราว 40,000 ล้านยูโร
ขณะเดียวกัน นับจากวันจันทร์ (20) ชาวกรีกจะต้องจ่ายภาษีสินค้าและบริการต่างๆ ตั้งแต่น้ำตาลไปจนถึงการทำศพแพงขึ้นจาก 13% เป็น 23% ตามเงื่อนไขการเปิดเจรจาขอเงินกู้ก้อนใหม่ 86,000 ล้านยูโรในระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ดี ภาษีเวชภัณฑ์ หนังสือ และหนังสือพิมพ์จะลดจาก 6.5% เหลือ 6%
นอกจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซจะยอมขึ้นภาษี ยกเครื่องระบบบำนาญ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่เคยคัดค้านมาตลอดนับจากเข้าบริหารประเทศเมื่อต้นปีแล้ว นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่คณะผู้แทนของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ได้แก่ อียู อีซีบี และไอเอ็มเอฟ จะเดินทางสู่เอเธนส์เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ
มาตรการรัดเข็มขัดที่เอเธนส์จำใจยอมรับทำให้ภายในพรรคไซรีซาของนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส แตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างที่สภาลงมติรับรองร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับแรกเมื่อวันพุธที่แล้ว(15) ซึ่งสมาชิกพรรคกว่า 30 คนลงคะแนนคัดค้าน ส่งผลให้ ซีปราส ต้องปรับคณะรัฐมนตรีด้วยการปลดสมาชิกพรรคที่ขบถออกเมื่อวันศุกร์(17)
กระนั้น ซีปราสยังต้องฝ่าฟันบททดสอบครั้งใหม่ในวันพุธนี้(22) ที่รัฐสภาจะต้องผ่านกฎหมายปฏิรูปฉบับที่สอง
หนังสือพิมพ์แอฟกีที่สนับสนุนรัฐบาลคาดว่า การลงมติในวันพุธ (22) อาจเป็นบททดสอบที่ส่งผลให้ซีปราสต้องลาออกจากตำแหน่งหากแพ้การโหวต สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลบางคนที่มองว่า การเลือกตั้งก่อนกำหนดอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอาทิตย์ (19) นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ย้ำจุดยืนในการไม่ลดหนี้ให้กรีซ แต่สำทับว่า เบอร์ลินเปิดกว้างในการเจรจาเพื่อขยายเวลาการชำระหนี้ให้เอเธนส์