xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีเศรษฐกิจของกรีซ เผยรัฐบาลเอเธนส์อาจคง “มาตรการควบคุมการเงิน” ต่ออีกอย่างน้อย 2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - จอร์จ สตาทากิส รัฐมนตรีเศรษฐกิจของกรีซ เผยในวันเสาร์ (11 ก.ค.) โดยระบุ มาตรการควบคุมทางการเงินที่รัฐบาลเอเธนส์ประกาศบังคับใช้กับสถาบันการเงินทั่วประเทศไปก่อนหน้านี้จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องไปอีก “อย่างน้อย 2 เดือน”

สตาทากิส เปิดเผยเรื่องดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมกาทีวี ของกรีซ โดยระบุว่าการกลับมาเปิดทำการตามปกติของบรรดาธนาคารพาณิชย์ในประเทศนั้นอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป หากรัฐบาลเอเธนส์สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงกับบรรดาเจ้าหนี้ต่างประเทศได้ภายในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในขณะที่ที่ประชุมของรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซน หรือที่เรียกว่า “ยูโรกรุ๊ป” ที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม กำลังหารือเครียดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อคำร้องของรัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซ ในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่

อย่างไรก็ดี สตาธากิสในวัย 61 ปี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การเดินเรือและการท่องเที่ยวของกรีซตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เผยว่า มาตรการควบคุมทางการเงินอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมถึงการจำกัดการถอนเงินและการโยกย้ายถ่ายโอนเงินออกนอกประเทศ อาจต้องถูกบังคับใช้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจหมายถึง 2 เดือน หรือหลายเดือนนับจากนี้

ท่าทีล่าสุดของรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซรายนี้มีขึ้นภายหลังจากที่รัฐสภากรีซลงมติให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิรูปการคลังฉบับล่าสุดที่นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส นำเสนอต่อเจ้าหนี้ต่างชาติในวันเสาร์ (11 ก.ค.) ถือเป็นความร่วมแรงร่วมใจเพื่อช่วยประเทศชาติให้รอดจากภาวะล้มละลายอย่างสิ้นเชิงในทางเศรษฐกิจ ขณะที่แหล่งข่าวในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมชี้ว่า แผนปฏิรูปของกรีซนี้อาจนำไปสู่การ “ปลดล็อก” วงเงินกู้งวดใหม่ที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 74,000 ล้านยูโร

แพกเกจปฏิรูปดังกล่าวได้รับการโหวตรับรองด้วยคะแนน 251 ต่อ 49 เสียง ซึ่งเท่ากับว่ารัฐสภากรีซได้ให้อำนาจเต็มที่แก่ นายกรัฐมนตรีซีปราส ในการเจรจาต่อรอง “ครั้งสุดท้าย” กับเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย (ทรอยกา) ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) ,กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก่อนที่จะมีการเรียกประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปในวันอาทิตย์นี้ (12) ซึ่งจะถือเป็น “วันชี้ชะตา” ว่า กรีซจะอยู่หรือไปจากกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 19 ประเทศที่ร่วมกันใช้เงินสกุลยูโร

รายงานข่าวระบุว่า แผนปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ยื่นเสนอไปที่บรัสเซลส์ ประกอบด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขระบบบำนาญ การขึ้นภาษี และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ง่อยเปลี้ยซึ่งไม่แตกต่างไปจากเงื่อนไขที่ฝ่ายเจ้าหนี้เรียกร้องเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อช่วยประคับประคองให้กรีซสามารถอยู่รอดในยูโรโซนต่อไป

อย่างไรก็ดี การอ่อนข้อของซีปราสในครั้งนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากบรรดาสมาชิกสายแข็ง ภายในกลุ่มการเมืองซีรีซา ซึ่งพบว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 10 รายที่งดออกเสียง สวนทางกับที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านของกรีซกลับช่วยโหวตสนับสนุนแผนดังกล่าวของรัฐบาล

ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง แหล่งข่าวในกรุงบรัสเซลส์เผยว่า ข้อเสนอปฏิรูปชุดล่าสุดของกรีซ “เป็นบวก” มากพอที่จะเปิดทางให้กรีซได้รับแพ็กเกจเงินกู้ครั้งใหม่มูลค่า 74,000 ล้านยูโร

การที่นายกรัฐมนตรีซีปราสหันมายอมรับเงื่อนไขสำคัญๆ ของฝ่ายเจ้าหนี้ ถือเป็นการ “ยอมถอย” เพื่อเปิดทางให้กรีซมีโอกาสได้รับเงินช่วยเหลือในช่วงเวลา 3 ปี ซึ่งรวมถึงการลดหนี้ และแพ็กเกจสนับสนุนการลงทุนอีก 35,000 ล้านยูโร แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลเอเธนส์จะแสดงจุดยืนว่ารับไม่ได้กับแนวทางของฝ่ายเจ้าหนี้

อย่างไรก็ดี แผนปฏิรูปที่รัฐบาลกรีซเสนอมาล่าสุดนี้ ยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่พวกเจ้าหนี้เรียกร้องอยู่ในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกนโยบายยกเว้นภาษีแก่เกาะต่างๆ ของกรีซ และการตัดลดงบประมาณของกองทัพ

ล่าสุดแหล่งข่าวในอียู เผยว่า กลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Stability Mechanism – ESM) พร้อมที่จะพิจารณาปล่อยกู้ในวงเงิน 58,000 ล้านยูโร สมทบกับกับวงเงินกู้อีกราว 16,000 ล้านยูโร จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อรวมเป็นแพ็กเกจช่วยเหลืองวดที่ 3 แก่รัฐบาลกรีซ



กำลังโหลดความคิดเห็น