เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สื่อดัง “นิวยอร์ก ไทม์ส” เผยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่เกิดขึ้นล่าสุดระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และคิวบา ส่งผลให้ในขณะนี้เหลือเพียง 3 ประเทศในโลกใบนี้เท่านั้นที่รัฐบาลวอชิงตันไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย พบข้อมูลสุดช็อกมี “ภูฏาน” รวมอยู่ด้วย
รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ล่าสุด ระบุว่าการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและฮาวานา ส่งผลให้ในเวลานี้มีเหลือเพียง 3 ประเทศในโลกเท่านั้นที่สหรัฐอเมริกายังไม่ยอมสถาปนาความสัมพันธ์ด้วย
ข้อมูลของนิวยอร์กไทม์สระบุว่า ทั้งสามประเทศที่ทางวอชิงตันยังยืนกรานไม่ยอมเปิดความสัมพันธ์ด้วยนั้น ประกอบด้วยอิหร่าน เกาหลีเหนือ และภูฏาน ราชอาณาจักรมังกรสายฟ้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย
ด้านแหล่งข่าวทางการทูตภายในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในจำนวน 3 ประเทศที่เหลืออยู่นี้ อิหร่านดูจะเป็นประเทศที่มีโอกาสมากที่สุดที่วอชิงตันจะสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการด้วยเป็นประเทศต่อไป โดยเฉพาะหากการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของรัฐบาลอิหร่านประสบความสำเร็จด้วยดี
ขณะที่ในกรณีของเกาหลีเหนือนั้น แหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและเปียงยางเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระบอบการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โสมแดงที่นำโดยคิม จองอึน ยังอยู่ในอำนาจ และยังยอมไม่ลด เลิกพฤติกรรมก้าวร้าวที่ถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น สองชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงการดำเนินนโยบายที่มุ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของราชอาณาจักรภูฏานแห่งภูมิภาคเอเชียใต้นั้น รายงานข่าวระบุว่า ราชวงศ์และรัฐบาลของภูฏานยังคงรักษาจุดยืนดั้งเดิมที่ “ไม่ต้องการผูกไมตรี” กับวอชิงตัน เนื่องด้วยความกังวลว่าการสถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะทำลาย “ดุลยภาพด้านนโยบายต่างประเทศ” ของภูฏานที่เน้นการสร้างสันติกับทั้งอินเดียและจีน สองชาติมหาอำนาจทางการเมืองที่มีเขตแดนขนาบภูฏาน
ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่ารัฐบาลอเมริกันในปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามาเองก็ดูจะพึงพอใจกับภาวะในปัจจุบัน และไม่มีแผนพิจารณาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับภูฏานเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้มีโอกาสพบหารือกับนายกรัฐมนตรีเชริง ต๊อบกายแห่งภูฏานระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดภูมิภาคเอเชียใต้ที่เมืองอาห์เมดาบัดในอินเดียซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้พบกับผู้นำรัฐบาลของภูฏาน