xs
xsm
sm
md
lg

Focus : ประชามติชี้ชาวกรีซ 61% โหวต “No” ไม่เอาเจ้าหนี้! ยุโรปต้องตัดสินใจจะรั้งหรือปล่อย “เอเธนส์” ออกจากยูโรโซน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ผลประชามติที่พบว่าประชาชนชาวกรีซเกินครึ่งพร้อมใจกันโหวต “โน” ปฏิเสธเจ้าหนี้ต่างชาติ ทำให้ยุโรปเดินมาถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจเลือก “เจ็บแบบไหน” ระหว่างการให้โอกาสสุดท้ายแก่กรีซ หรือจะยอมปล่อยกรีซหลุดออกจากกลุ่มยูโรโซนซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนครั้งใหญ่ต่อตลาดการเงินโลก นักวิเคราะห์เผย

ผลการนับคะแนนที่เสร็จสิ้นไปแล้วพบว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิที่โหวต “โน” สูงถึง 61% ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ซึ่งมองว่ากรีซจะมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้มากขึ้นในการทำข้อตกลงเงินกู้ใหม่และขอปรับโครงสร้างหนี้เดิม ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้สั่งเรียกประชุมซัมมิตผู้นำยุโรปเป็นการด่วนในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) และชี้ว่าทุกฝ่ายต้องเคารพการตัดสินใจของชาวกรีซ

ที่ใจกลางกรุงเอเธนส์ ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลต่างส่งเสียงเชียร์และสวมกอดกันและกันเมื่อทราบผลประชามติ ทว่า ชาวกรีซบางคนยังแสดงท่าทีสงสัยว่าซีปราสจะทำตามคำมั่นสัญญาได้จริงหรือไม่

ผลการนับคะแนนที่ประกาศโดยกระทรวงมหาดไทยกรีซระบุว่า ประชาชนร้อยละ 61.31 โหวต “โน” ไม่รับเงื่อนไขเจ้าหนี้ ส่วนผู้ที่โหวต “เยส” มีเพียงร้อยละ 38.69 โดยมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทำประชามติร้อยละ 62.5

เบอร์ลิน ปารีส และบรัสเซลส์ ต่างแถลงเตือนก่อนที่จะมีการลงประชามติวานนี้ (5 ก.ค.) ว่า หากกรีซโหวต “โน” ต่อเงื่อนไขปฏิรูปของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็เท่ากับโหวต “โน” ต่อการร่วมใช้สกุลเงินยูโร และจะต้องกลับไปใช้เงินสกุลดรักมาตามเดิม

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ความเสี่ยงที่กรีซจะต้องหลุดจากกลุ่ม 19 ประเทศยูโรโซน หรือ “Grexit” อาจทำให้ผู้นำยุโรปบางคนหันมาเอออวยกับนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ในประเด็นที่ว่า ผลประชามติ “โน” ไม่ได้หมายความว่ากรีซจะต้องแตกหักกับยุโรปเสียทีเดียว

“สมาชิกอียูอาจยอมให้โอกาสสุดท้ายแก้กรีซ แต่เวลาก็มีน้อยมาก และคงจะเป็นโอกาสสุดท้ายจริงๆ” นิโคลัส เวรอน นักวิเคราะห์จากสถาบันบรูเกลในกรุงบรัสเซลส์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี พร้อมเตือนว่า ภาวะ Grexit อาจเกิดขึ้นเร็วมาก หากผู้นำอียูไม่มีมาตรการตอบสนองอย่างทันท่วงที

ผลประชามติในกรีซทำให้องค์กรเจ้าหนี้ต้องเลือกระหว่างการอ่อนข้อให้เอเธนส์เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางการเมืองจากการสูญเสียประเทศเก่าแก่ในยุโรปออกจากกลุ่มยูโรโซน หรือจะยังคงจุดยืนเข้มงวดต่อไป

พรรคฝ่ายซ้ายไซรีซาของนายกรัฐมนตรีซีปราส ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนมกราคม ยืนกรานปฏิเสธเงื่อนไขรัดเข็มขัดเข้มงวดของเจ้าหนี้มาโดยตลอด และสัปดาห์ที่แล้วการเจรจาก็เริ่มเข้าสู่ทางตัน เมื่อยูโรโซนไม่ยอมต่ออายุข้อตกลงเงินกู้กรีซเกินกว่าวันที่ 30 มิ.ย.

การประชุมฉุกเฉินผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ในวันพรุ่งนี้(7) ซึ่งอาจเป็นความพยายามเฮือกสุดท้ายที่จะผลักดันข้อตกลงทางออก ก่อนที่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) จะตัดโครงการช่วยเหลือสภาพคล่องฉุกเฉิน (อีแอลเอ) ที่ให้แก่ธนาคารกรีซ

ปีเตอร์ คาซีมีร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งสโลวาเกีย ชี้ว่า “ฝันร้ายของยูโรโซนที่สมาชิกชาติใดชาติหนึ่งจะต้องออกจากกลุ่ม ดูใกล้ความเป็นจริงที่สุด หลังจากชาวกรีซตัดสินใจโหวตโนในวันนี้”

ปีเตอร์ เคลปเป นักวิเคราะห์จากสถาบัน โอเพน ยุโรป ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ผมคิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะทำให้กรีซต้องออกจากยูโรโซนในที่สุด... อียูไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้ลั่นไกสังหาร... ผมมองว่าหากเวลานี้รัฐบาลกรีซไม่เตรียมตัวกลับไปใช้สกุลเงินดรักมา ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าโอกาสเจรจากับรัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้สำเร็จแทบจะเป็นไปไม่ได้ ก็ออกจะเป็นแนวคิดที่ไม่รับผิดชอบ”

“ผมคิดว่าคงยาก (ที่จะหาทางออก) เพราะฉะนั้นจะมัวเสแสร้งให้เสียเวลาอันมีค่าไปทำไม ทั้งๆ ที่คุณกำลังเสี่ยงจะต้องเผชิญความปั่นป่วนทางสังคมครั้งใหญ่”

เขาย้ำว่า หากไม่ได้เงินช่วยเหลือสภาพคล่องจากอีซีบี “กรีซก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะหาสกุลเงินใหม่มาใช้”

ยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีคลังกรีซ ยืนยันเมื่อค่ำวานนี้ (5) ว่า การกลับไปใช้สกุลเงินดรักมาไม่อยู่ในแผนทางเลือก และเอเธนส์จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ในที่สุด แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องยากเต็มทน

แอนน์ ลอเร เดอลัตเต นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส ระบุว่า พลเมืองยุโรปคงไม่ต้องการให้รัฐบาลนำเงินภาษีไปช่วยอุ้มระบบการคลังของกรีซที่เป็นเสมือน “หลุมดำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกลุ่มบอลติก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์

“ภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น และแรงกดดันจากฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดวิกฤตการเงินโลกซ้ำอีก อาจจะเป็นผลดีต่อกรีซอยู่บ้าง... แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดที่ว่ายูโรโซนคงจะเข้มแข็งกว่านี้ถ้าไม่มีกรีซเป็นตัวถ่วง รวมไปถึงแรงกดดันจากพลเมืองยุโรป”



กำลังโหลดความคิดเห็น