xs
xsm
sm
md
lg

Focus : สื่อนอกชี้ สัมพันธ์ไทย-จีน หยั่งรากลึกหลังดีลเรือดำน้ำ 1.1 พันล้านดอลลาร์เกิดขึ้นในช่วงเวลารัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การเดินหมากซื้อเรือดำน้ำจากจีนของไทยครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะเป็นเสมือนตัวบ่งชี้ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยให้ความใกล้ชิดกับจีนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ดีลข้อเสนอนี้จะออกมาจากทางจีนก่อนก็ตาม ดังนั้น ในทัศนะของแวลู วอล์ก (Value Walk) สื่อออนไลน์สหรัฐฯ ชี้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเมื่อดูจากราคาข้อเสนอพิเศษจากจีนที่สามารถเอื้อมถึงในมุมมองจากงบดุลด้วยสนนราคา 1.1 พันล้านดอลลาร์แบบแพ็กเกจ และที่สำคัญ เป็นเสมือนการที่ไทยสามารถใช้ดีลการซื้อครั้งนี้กระชับมิตรทางการทหารกับจีนไว้ได้มากขึ้น ในขณะที่ไทยยังคงสามารถมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯที่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีเย็นลงนับตั้งแต่ไทยเข้าสู่โหมดการทำรัฐประหารเป็นต้นมา และอีกทั้งรวมไปถึงเรือดำน้ำเป็นสิ่งที่กองทัพเรือไทยปรารถนามาโดยตลอด เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย ได้สั่งซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียเข้าประจำการถึง 6 ลำ จึงไม่เป็นที่แน่แปลกใจและไม่ใช่สิ่งที่ต้องตกใจว่าเกิดเหตุการณ์คับขันใดขึ้นกองทัพเรือไทยจึงต้องการเรือดำน้ำเข้าประจำการในช่วงเวลานี้

แวลู วอล์ก (Value Walk) สื่อออนไลน์สหรัฐฯรายงานวันนี้ (4) ว่า ดีลเรือดำน้ำสัญชาติจีน 039B จำนวน 3 ล ำในสนนราคา 1.1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าประจำการเหมือนชาติอื่นๆ นั้น ดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่าจับตา โดยพบว่าก่อนหน้านั้นในวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ทางกองทัพเรือไทยได้ยื่นแผนการจัดซื้ออย่างเป็นทางการแล้ว และดูเหมือนว่ากองทัพเรือไทยมีความพยายามในการจัดหาเรือดำน้ำเข้าเสริมเขียวเล็บประเทศมาโดยตลอด

ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของไทยภายใต้รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร จึงมองได้เพียงอย่างเดียวว่า มีความประสงค์ต้องการผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางจีนเป็นพิเศษ เพราะนับตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร 1 ปีก่อนหน้านั้น ในขณะที่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯชาเย็นลง ไทยแสวงหาความยอมรับในระดับสากลมากขึ้น และดูเหมือนจีนที่เป็นผู้นำมหาอำนาจระดับภูมิภาคได้ประกาศโอบอุ้มนายกรัฐมนตรีไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้นำระดับสูงทางกองทัพของไทยได้ไปเยือนจีนในเวลาต่อมา ดังนั้น ดีลการซื้อขายเรือดำน้ำจากจีนจึงเสมือนนหมุดที่ตอกย้ำลงบนทิศทางที่ไทยได้หันทิศทางไป

สื่อสหรัฐฯยังรายงานเพิ่มเติมว่า และเมื่อพิจารณาถึงเรือดำน้ำที่ไทยพิจารณาจะจัดซื้อ พบว่า เป็นเรือดำน้ำสัญชาติจีนรุ่น e041 ที่รู้จักโดยทั่วไป แต่ทว่าตามการระบุที่แท้จริงของจีนแล้ว เรือดำน้ำรุ่นนี้คือ 039B ซึ่งถูกเรียกตามการระบุ NATO ว่า Yuan ซึ่งพบว่าเรือดำน้ำชั้น Yuan ได้เข้าประจำการประจำกองทัพจีนนับตั้งแต่ปี 2006 และมาจนถึงขณะนี้ได้มีการต่อเรือดำน้ำชั้น Yuan แล้วถึง 12 ลำ ซึ่งนอกจากไทยที่หมายตาเรือดำน้ำรุ่นนี้จากจีนแล้ว ปากีสถานกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงซื้อจากจีน

และ แวลู วอล์ก รายงานเพิ่มเติมว่า เรือดำน้ำ 039B นั้น มาพร้อมกับระบบอาวุธล้ำสมัย และระบบ Air-Independent Propulsion system (AIP) หรือระบบเครื่องยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งอากาศจากผิวน้ำ ที่จะช่วยให้เรือดำน้ำรุ่นนี้อยู่ใต้น้ำได้เป็นเวลานานเมื่อเทียบกับเรือดำน้ำระบบดีเซล - ไฟฟ้าโดยทั่วไป โดยระบบนี้สามารถทำให้เรือดำน้ำรุ่นนี้อยู่ใต้น้ำได้นานถึง 21 วัน โดยไม่ต้องโผล่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำงานได้เนื่องจากเครื่องยนต์สเตอร์ลิง (Stirling Engine)ที่จีนสั่งนำเข้ามาจากสวีเดนในช่วงยุค 80

และพบว่านี่เป็นครั้งแรกที่เรือดำน้ำสัญชาติของจีนถูกหมายตาจากชาติอื่นอย่างเปิดเผย ถึงแม้ก่อนหน้านี้เรือดำน้ำของจีนจะได้รับความไว้วางใจจากบังกลาเทศและปากีสถาน แต่ทว่าเป็นการสั่งซื้อทางตรง

สื่อสหรัฐฯรายงานว่เพิ่มเติมอีกว่า ด้วยสนนราคา 1.1 พันล้านดอลลาร์ของเรือดำน้ำจีนจำนวน 3 ลำชั้น Yuan ที่งบประมาณกองทัพเรือไทยสามารถจัดการได้ภายใต้ 3.6 ล้านบาท ทำให้ขอเสนอการจัดซื้อผ่านมติออกเสียงของคณะกรรมการกองทัพเรือไทยจำนวน 17 คนด้วยเสียง 14-3 และแพกเกจมานอกจากตัวเรือดำน้ำแล้ว ยังมาพร้อมกับการฝึกสอน และ 8 ปีสำหรับแพกเกจสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ต่างๆ

ซึ่งพลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือไทย ยอมรับว่า ด้วยงบประมาณจำกัดของกองทัพทำให้สามารถสั่งซื้อเรือดำน้ำจากประเทศอื่นได้แค่ 2 ลำ แต่ไร้อาวุธ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสนอของจีนที่ได้ถึง 3 ลำ และติดตั้งมาพร้อมอาวุธในตัว

พลเรือเอก ไกรสร ยังกล่าวต่อว่า ส่วนในการจัดซื้อ เป็นการจัดซื้อเป็นระบบจีทูจี จ่ายเงินโดยภาครัฐ กองทัพเรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะกองทัพเรือพิจารณาตาม ครม. ได้สั่งการลงมา และส่วนความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำยามที่ไม่มีสงคราม ผบ.ทร. ระบุว่า เรื่องนี้ถือว่าตอบยาก เพราะเวลาจำเป็นที่ต้องใช้ แต่กลับไม่มีเรือดำน้ำไว้ใช้เพื่อป้องกันประเทศ และที่สำคัญที่สุดทางไทยไม่มีเรือดำน้ำมานานกว่า 50 ปีแล้ว นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งเรือดำน้ำจัดเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ในการป้องปรามที่สำคัญของประเทศทีเดียว

นอกจากนี้ สื่อสหรัฐฯเชื่อว่า เมื่อเรือดำน้ำมาประจำการแล้ว ทางไทยจะกำหนดให้เรือดำน้ำเหล่านี้แล่นตรวจการณ์ในบริเวณอ่าวไทย และจะมีความจำเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะหากมีการยกระดับความรุนแรงในเหตุพิพาทบริเวณทะเลจีนใต้และไทยยังสามารถใช้เรือดำน้ำเหล่านี้ป้องกันการล่วงล้ำอ่าวไทยจากข้าศึก รวมไปถึงยังทำให้กองทัพเรือไทยลดการพึ่งพาการใช้ยานรบเหนือน้ำทุกประเภทอีกด้วย

และสื่อสหรัฐฯยังรายงานต่อว่า ในเมื่อพิจารณาในย่านเอเชียแปซิฟิก พบว่า สิงคโปร์มีเรือดำน้ำเข้าประจำการจำนวน 4 ลำ มาเลเซียมีจำนวน 2 ลำ พร้อมกับแผนการที่จะสั่งซื้อเพิ่มอีก 10 ลำ ในขณะที่เวียดนามมีจำนวน 4 ลำ และอยู่ในระหว่างการส่งมอบอีก 2 ลำจากรัสเซีย ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีแผนจะสั่งซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ เป็นต้น

แผนการจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยเกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ดูใกล้ชิดน้อยลงหลังจากการทำรัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ ในพฤษภาคมปีที่ผ่านมา โดยภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา สหรัฐฯได้สั่งระงับความช่วยเหลือทางการทหารจำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯหลายคนได้เตือนไทยถึงผลกระทบในแง่ลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯหากไทยยังอยู่ในบรรยากาศการรัฐประหาร

และนอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนั้นถึงกับประกาศว่า การทำรัฐประหารของไทยเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการถดถอยถึงเสรีภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2014

แต่กระนั้นภายใต้ความสัมพันธ์ที่อึมครึมนี้ แต่กลับพบว่า ทางสหรัฐฯยังคงยืนยันให้ยังมีการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ประจำปี ต่อไปในปีหน้า ซึ่งถือเป็นการฝึกผสมร่วมเก่าแก่ที่สุดที่เกิดขึ้นในปี 1982

แวลู วอล์ก ยังระบุด้วยว่า สำหรับจีนแล้ว ดีลการซื้อขายเรือดำน้ำให้ไทยนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี เมื่อพิจารณาถึงชาติพันธมิตรในภูมิภาคนี้ที่นับวันจะหายากมากขึ้นเนื่องมาจากปัญหาพิพาททางทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ดังนั้น จึงถือเป็นแง่บวกสำหรับจีนที่จะซื้อใจไทย และผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยไว้ในช่วงเวลานี้




กำลังโหลดความคิดเห็น