เอเอฟพี - สหรัฐฯ ประกาศรื้อฟื้นความช่วยเหลือด้านกลาโหมแก่กองทัพบาห์เรนวานนี้ (29 มิ.ย.) โดยอ้างถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน “ที่มีนัยสำคัญ” หลังเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลผ่านพ้นมาแล้ว 4 ปี
“สหรัฐฯ ตัดสินใจเพิกถอนการระงับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่กองกำลังป้องกันบาห์เรน และ เนชันแนล การ์ด ซึ่งเราได้บังคับใช้ตั้งแต่มีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2011” จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลง
“แม้ระดับสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนจะยังไม่น่าพอใจเสียทีเดียว... แต่เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลบาห์เรนได้พยายามสร้างความปรองดอง และปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยยะสำคัญ”
เจ้าหน้าที่อเมริกันยังไม่ระบุว่าจะมีการส่งอาวุธ หรือเครื่องไม้เครื่องมือทางทหารให้แก่กองทัพบาห์เรนหรือไม่ แต่ก็ย้ำว่านอกจากอาวุธที่เข้าข่ายเพื่อการต่อต้านก่อการร้ายอย่างชัดแจ้งแล้ว สหรัฐฯ “จะยังคงจำกัดการขายสินค้ากลาโหมให้แก่กระทรวงมหาดไทยบาห์เรน (MOI)” ต่อไป
วอชิงตันกล่าวหา MOI ว่าเป็น “ตัวการสำคัญที่ต้องรับผิดชอบเหตุล่วงละเมิดพลเรือนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2011”
“เราจะผ่อนคลายข้อจำกัดนี้ก็ต่อเมื่อเห็นว่า รัฐบาลบาห์เรนมีมาตรการปรับปรุงการทำงานของ MOI ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงวิธีที่พวกเขาจัดการกับผู้ต้องหาด้วย”
องค์กรฮิวแมนไรต์ เฟิร์สต์ ได้ออกมาตำหนิท่าทีโอนอ่อนผ่อนปรนของสหรัฐฯ โดยชี้ว่าเป็นการบั่นทอนแรงกดดันให้บาห์เรนต้องปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชน
“ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นผลดีตรงไหน... ทั้งต่อบาห์เรน ต่อภูมิภาค หรือต่อสหรัฐฯ เอง” ไบรอัน ดูลีย์ จาก ฮิวแมนไรต์ เฟิร์สต์กล่าว
ดูลีย์ชี้ว่า ประชากรส่วนใหญ่ในบาห์เรนเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ ในขณะที่กองทัพกลับมีแต่ทหารสุหนี่ พร้อมเตือนถึงโอกาสที่ความขัดแย้งระหว่างศาสนาจะรุนแรงขึ้น
เหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงบาห์เรนกับผู้ชุมนุมชาวชีอะห์ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบกษัตริย์และขอนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2011 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 89 ราย และถูกจับกุมอีกหลายร้อยคน
บาห์เรนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ และยังเป็นที่ตั้งของกองเรือที่ 5 แห่งกองทัพเรือเมริกาด้วย