xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : พิวรีเสิร์ชเปิดยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียของโอบามา “เวียดนาม” โปรอเมริกาจ๋าไม่ต่ำกว่า 71% ทั้งดีลการค้า TPP - ตั้งกองกำลังเรือรบในเอเชีย - 56% มะกันอนุญาต “สหรัฐฯยกกองทัพช่วย” หากจีนปะทะโฮจิมินห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ – เมื่อวานนี้(23)พิวรีเสิร์ชได้รายงานยุทธศาสตร์ทางเอเชีย หรือ ยุทธศาสตร์การปักหมุดเอเชียเพื่อถ่วงดุลอำนาจการทหารกับจีนและสร้างการค้ากับประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ยังอยู่ในอำนาจ พบว่าในการสำรวจปี 2015 ด้านข้อตกลงการค้า TPP จาก 9 ประเทศที่สำรวจรวมไปถึง สหรัฐฯพบว่า เวียดนามเห็นด้วยในการเข้าร่วมทำข้อตกลงการค้า TPP กับสหรัฐฯมากถึง 89% ในขณะที่มาเลเซียเป็นประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับ TPP มากที่สุด โดยมีเสียงสนับสนุนข้อตกลงการค้าเพียง 38% และต้องตกใจเมื่อพบว่า ในด้านการสนับสนุนการคงอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯในน่านน้ำแปซิฟิก พบว่าเวียดนามออกเสียงสนับสนุนการปรากฏตัวของกองกำลังสหรัฐฯถึง 71% และมากกว่า 50% ใน 6 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศที่คิดว่า “ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลทางการทหารของสหรัฐฯในเอเชียแปซิฟิกเป็นสิ่งที่ดี” เพราะจะทำให้ภูมิภาคนี้ยังคงสงบต่อไป และประชาชนชาวสหรัฐฯถึง 56% เห็นควรให้เพนตากอนสั่งรบหากประเทศพันธมิตรเอเชียเกิดปะทะกับจีน

หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯบารัค โอบามา สามารถประสบความสำเร็จทำให้สภาสูงสหรัฐฯผ่านกฎหมายฟาสต์แทร็กให้อำนาจพิเศษกับประธานาธิบดีสหรัฐฯในการจัดการเจรจาการค้าแปซิฟิก TPP แบบไม่ต้องให้สภาคองเกรสสามารถแก้ไขรายละเอียดข้อตกลงสนธิสัญญาได้ ทำให้ล่าสุด pewglobal.org รายงานผลวิจัยยุทธศาสตร์ Pivot to Asia หรือ ยุทธศาสตร์การปักหมุดเอเชียเมื่อวานนี้(23) จากการสำรวจในช่วงฤดูใบไม้ผลิล่าสุดโดยผ่านการสัมภาษณ์แบบเฉพาะตัวบุคคลและการสอบถามความคิดเห็นผ่านทางโทรศัพท์ภายใต้การดำเนินงานของ Princeton Survey Research Associates International

ทั้งนี้ในอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคลินตันเคยเขียนลงในสื่อการต่างประเทศ Foreign Policy ในวันที่ 11 ตุลาคม 2011 ว่า "ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย" เกิดขึ้นจากการที่วอชิงตันต้องการปิดฉากการรบของกองทัพสหรัฐฯในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งทหารสหรัฐฯสิ้นสุดการทำหน้าที่สันติภาพในอิรักในปี 2011 และสิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นทหารสันติภาพร่วมกับนาโตในอัฟกานิสถานในปี 2014 โดยสหรัฐฯยังคงกองกำลังบางส่วนในอัฟกานิสถานเพื่อเป็นครูฝึกให้กองทัพอัฟกานิสถานเท่านั้นหลังจากนั้น

โดยยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย หรือการสร้างสมดุลอำนาจในเอเชียนั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกันคือ (1)ด้านเศรษฐกิจ หรือการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชีย ข้อตกลงการค้าเอเชียแปซิฟิก(TPP) รวมไปถึงกีดกันไม่ให้ภูมิภาคย่านนี้ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจกับจีนมากจนเกินไป และ(2)การนำกองกำลังสหรัฐฯกลับคืนสู่น่านน้ำแปซิฟิกเพื่อถ่วงดุลความก้าวร้าวของจีน เพื่อทำให้ประเทศพันธมิตรในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย มั่นใจว่าจะสามารถฝากความหวังไว้กับสหรัฐฯได้ว่า หากเกิดเหตุขึ้นทางวอชิงตันจะส่งกำลังไปช่วย

และถึงแม้ความสำเร็จในยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียนี้ต้องการเวลาในการพิสูจน์ แต่กระนั้นพิวรีเสิร์ชยังยืนยันว่า การสนับสนุนทางสาธารณะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะสามารถเป็นเครื่องวัดได้ว่า ยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโอบามานี้ได้รับการตอบรับอย่างไร ในแง่ความเชื่อมั่นของประชาชนในแถบเอเชียแปซิฟิกต่อข้อตกลงการค้า TPP เพื่อร่วมตลาดย่านเอเชียแปซิฟิกให้เป็นหนึ่งเดียว และความกระตือรือร้นของประชาชนเจ้าของประเทศในการสนับสนุนให้วอชิงตันตัดสินใจใช้กำลังทางทหารเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรทางเอเชียแปซิฟิกหากตกที่นั่งลำบาก

ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียด้านเศรษฐกิจ : ข้อตกลงการค้า TPP

ข้อตกลงการค้าแปซิฟิกนั้นทำครอบคลุมทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกรวม 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม

และหากข้อตกลงการค้า TPP สำเร็จ จะทำให้สามารถมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมถึง 40% ของเศรษฐกิจโลก และ 26% ของตลาดการค้าโลก

ทั้งนี้ในการสำรวจล่าสุดในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2015 ในเรื่องข้อตกลงการค้า TPP ทำการวิจัย 9 ประเทศจากทั้งหมด 12 ประเทศคือ เวียดนาม เปรู ชิลี เม็กซิโก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ และมาเลเซียที่เข้าร่วมกับ TPP และพบว่าทั้งหมดที่ได้ตอบแบบสอบถามโดยเฉลี่ย มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 53% เห็นว่าดีลการค้า TPP เป็นประโยชน์ ในขณะที่ 23% เห็นในทางตรงกันข้าม

โดยพบว่าเวียดนามเห็นด้วยกับข้อตกลงการค้า TPP ถึง 89% แต่ทว่ามาเลเซียกลับเป็นประเทศที่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้น้อยที่สุด โดยมีเสียงสนับสนุนเพียง 38% และตามมาถึงสหรัฐฯที่ไม่ต้องการข้อตกลงการค้า TPP เนื่องจากเกรงการถูกโยกงานออกนอกประเทศ โดยมีเสียงสนับสนุนเพียง 49% เท่านั้น

นอกจากนี้ในแบบสอบถามล่าสุด ยังถามไปยังประเทศที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วม TPP ทั้งหมด 13 ประเทศ (ญึ่ป่น แคนาดา เวียดนาม เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย เกาหลีใต้ และปากีสถาน) ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับทางวอชิงตัน หรือทางปักกิ่งมากกว่า โดยพบว่า ญี่ปุ่น 78% ฟิลิปปินส์ 73% และแคนาดา 73% ต้องการใกล้ชิดทางการค้ากับทางวอชิงตัน
ในขณะที่ มาเลเซียนั้นต้องการใกล้ชิดทางการค้ากับวอชิงตันน้อยที่สุด โดยมีเสียงสนับสนุนตอบรับเพียง 14%

และเมื่อพิจารณาถึงประเทศที่ต้องการสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับปักกิ่งมากกว่า พบว่าจากทั้งหมด 13 ประเทศ ออสเตรเลียสนับสนุนแนวคิดนี้ถึง 50% และเกาหลีใต้จำนวน 47%

พิวรีเสิร์ชรายงานเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าสนใจที่พบว่า ถึงแม้มาเลเซียมีเสียงความต้องการใกล้ชิดทางการค้ากับวอชิงตันน้อยที่สุด แต่กลับพบว่า มาเลเซียถึง 43% และชิลีราว 35% ต้องการให้ใกล้ชิดทางการค้ากับทั้งวอชิงตันและปักกิ่งเท่าๆกัน

ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชีย : กองกำลังสหรัฐฯในย่านเอเชียแปซิฟิก

และเมื่อพิจารณาถึงยุทธศาสตร์การกลับมาเยือนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ ที่ล่าสุดในสมัยโอบามา มีข้อตกลงร่วมกับออสเตรเลียในการอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯคงอยู่ในออสเตรเลียได้ รวมไปถึงการปรากฏกองเรือรบสหรัฐฯที่คอยวิ่งตรวจตราน่านน้ำในภูมิภาคนี้เพื่อต้านทานแรงกดดันจากจีนที่ต้องการประกาศสิทธิครอบครองในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

โดยพิวรีเสิร์ชชี้ว่า ความสัมพันธ์ในความต้องการให้กองกำลังสหรัฐฯปรากฏตัวในภูมิภาคนี้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของความต้องการของประเทศนั้นๆต่อจีนในด้านความมั่นคง โดยจากการสำรวจทั้งหมด 10 ประเทศ (เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และปากีสถาน) พบว่า 6 ประเทศเห็นควรว่า การคงกองกำลังสหรัฐฯไว้ในย่านเอเชียแปซิฟิกเพื่อรักษาความสงบในภูมิภาคนี้

ซึ่งพบว่า เวียดนามที่นอกจากสนับสนุนดีลการค้า TPP แล้วยังสนับสนุนการปรากฏตัวของกองกำลังสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิกถึง 71% สอดคล้องกับความรู้สึกที่เป็นปฎิปักษ์ต่อจีนของชาวเวียดนามที่พบว่า มีประชาชนชาวเวียดนามถึง 74% หรือเกือบ 3 ใน 4 ที่เห็นว่า ควรที่จะต้องให้ความสำคัญด้านดินแดนพิพาทกับปักกิ่งมากกว่าที่ต้องการใกล้ชิดทางการค้าที่มีสัดส่วนเห็นด้วยแค่ 17%

ส่วนฟิลิปปินส์สนับสนุนการปรากฏตัวของกองกำลังสหรัฐฯราว 71% แต่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์แค่ 41% ต้องการให้ความสำคัญกับดินแดนพิพาทกับจีนมากกาว่า ซึ่งไม่ต่างมากนักกับจำนวนชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการให้ทางมานิลาใกล้ชิดกับปักกิ่งด้านเศรษฐกิจราว 43%

นอกจากนี้ในการสำรวจ พิวรีเสิร์ชยังได้ถามชาวสหรัฐฯ ต้องการสนับสนุนให้วอชิงตันสั่งใช้กำลังทางทหารกับจีนหรือไม่ หากว่าประเทศพันธมิตรในน่านน้ำเอเชียแปซิฟิกมีปัญหาต้องใช้กำลังปะทะกับจีน และพบว่ามีประชาชนสหรัฐฯถึง 56% ตอบตกลงเห็นควรที่จะให้สหรัฐฯใช้กองกำลังเรือรบเข้าแทรกแซงช่วยมิตรประเทศ ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ได้ออกความเห็นคาดหวังว่าสหรัฐฯจะให้การช่วยเหลือหากถูกจีนใช้กำลังมากที่สุดถึง 73% และราว 2 ใน 3 หรือ 66% ของชาวฟิลิปปินส์หวังจะเห็นกองเรือสหรัฐฯเข้าสนับสนุนหากเกิดการรบกับจีนขึ้น และญี่ปุ่นปรารถนาการเข้าช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐฯราว 60% เป็นต้น












กำลังโหลดความคิดเห็น