เอพี/เอเจนซีส์ – จีนกับสหรัฐฯต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอยแม้แต่น้อย ในเรื่องที่ปักกิ่งยืนกรานเดินหน้าถมที่ถมทะเลในหลายๆ พื้นที่ของทะเลจีนใต้ซึ่งพิพาทช่วงชิงกับประเทศอื่นๆ โดยที่พวกเจ้าหน้าที่จีนต่างปฏิเสธอย่างสุภาพแต่ชัดเจน ต่อแรงผลักดันของวอชิงตันที่จะให้ใช้หนทางซึ่งสหรัฐฯเสนอขึ้นมาในการคลี่คลายความตึงเครียด
ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ มาถึงช่วงสุดท้ายแห่งการเยือนจีนเป็นเวลา 2 วันเที่ยวนี้ของเขาเมื่อวันอาทิตย์ (17 พ.ค.) ทั้งสองฝ่ายต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนทนากันเพื่อคลี่คลายแก้ไขการที่หลายๆ ชาติต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหลายบริเวณในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกันอยู่ แต่ไม่ว่าวอชิงตัน หรือปักกิ่ง ก็ไม่มีฝ่ายใดแสดงสัญญาณถึงการอ่อนข้อในเรื่องที่จีนดำเนินโครงการถมที่ถมทะเล ซึ่งทำให้สหรัฐฯและพวกชาติเพื่อนบ้านของจีนต่างแสดงความวิตกกังวล
เคร์รีนั้นได้เข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนในวันอาทิตย์ โดยที่ประมุขของแดนมังกรผู้นี้มีกำหนดการจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ และพยายามหาทางเน้นย้ำให้เห็นถึงด้านที่ร่วมมือกันของจีนกับสหรัฐฯ
“ในความเห็นของผมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงมีเสถียรภาพเมื่อมองโดยภาพร่วม” สี บอกกับเคร์รี ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง พร้อมกับเสริมว่า เขาคาดหวังที่จะผลักดันความสัมพันธ์นี้ให้เติบโตต่อไปอีก ในระหว่างการไปเยือนแดนลุงแซมของเขา
ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน สี พูดด้วยว่า “มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่นั้นมีความกว้างขวางพียงพอที่จะรองรับทั้งจีนและสหรัฐฯ” เขายังเรียกร้องให้สองฝ่ายจัดการกับข้อพิพาทต่างๆ “ด้วยวิธีการอันเหมาะสมเพื่อที่จะได้ไม่กระทบกระเทือนต่อทิศทางใหญ่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี” แถมบอกอีกว่า “ความสัมพันธ์จีน - สหรัฐฯในรูปแบบใหม่ กำลังแสดงผลดีในขั้นต้นออกมาให้เห็นแล้ว”
แต่ถึงแม้มีการเอ่ยถ้อยคำเหล่านี้ ในช่วงใกล้ๆ ก่อนที่เคร์รีจะออกจากปักกิ่งเพื่อเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้ ความขัดแย้งกันในเรื่องการก่อสร้างของจีนในทะเลจีนใต้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ชัดเจน และกลายเป็นเมฆหมอกบดบังการเดินทางเยือนเอเชียระยะเวลาสั้นๆ ทริปนี้ของเคร์รี
สหรัฐฯ และหลายชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนนั้น ต้องการให้จีนหยุดยั้งโครงการเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาระแวงว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างหมู่เกาะตลอดจนเปลี่ยนแปลงลักษณะผืนดินไปต่างๆ และจีนจะสามารถใช้อ้างอำนาจอธิปไตยของตนในเวลาต่อไป
“เรามีความกังวลเกี่ยวกับฝีก้าวและขนาดขอบเขตของการถมทะเลของจีนในทะเลจีนใต้” เคร์รีกล่าวในกรุงปักกิ่งเมื่อวันเสาร์ (16) เขาเรียกร้องให้จีนเร่งรัดการเจรจากับอาเซียนในเรื่องการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่มีผลทางกฎหมาย เพื่อใช้บังคับกิจกรรมทางทะเลในดินแดนพิพาท
เป้าหมายของแนวทางปฏิบัตินี้คือ เพื่อช่วย “ลดความตึงเครียดและเพิ่มลู่ทางโอกาสของหนทางแก้ปัญหาโดยทางการทูต” เคร์รีบอก
“ผมคิดว่าพวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าภูมิภาคนี้จำเป็นที่จะต้องมีการทูตที่ฉลาดหลักแหลม เพื่อที่จะได้สรุปแนวทางปฏิบัติสำหรับอาเซียน-จีน ไม่ใช่การมีด่านทางทหารและสนามบินทางทหาร” เคร์รีบอกกับผู้สื่อข่าว ในการแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน
ทางด้าน หวัง บอกว่าในขณะที่จีนพรักพร้อมที่จะเจรจาหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็จะไม่หยุดการก่อสร้างที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเขากล่าวว่า การก่อสร้างเหล่านี้ “เป็นอะไรที่อยู่ภายในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของจีนอย่างเต็มที่”
“ความมุ่งมั่นตั้งใจของฝ่ายจีนที่จะทำการพิทักษ์ป้องกันอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของเราเองนั้น เข้มแข็งหนักแน่นประดุจก้อนหิน และก็ไม่สามารถที่จะโยกคลอนได้” เขาบอก
“มันเป็นทัศนะของเราเสมอมาที่ว่า เราจำเป็นต้องหาหนทางแก้ไขอันเหมาะสมต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เรามีอยู่ โดยผ่านการสื่อสารและการเจรจาซึ่งเรากระทำกับฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ด้วยวิธีการอันสันติและวิธีการทางการทูต บนพื้นฐานของการเคารพในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ จุดยืนเช่นนี้จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า”
หวัง กล่าวด้วยว่า ความแตกต่างกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯนั้นสามารถที่จะบริหารจัดการได้ “ตราบเท่าที่เราสามารถหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดกัน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ ตราบเท่าที่เราสามารถหลีกเลี่ยงการคำนวณคาดคะเนอย่างผิดๆ”
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารโอบามาต่างปฏิเสธไม่ยอมให้ความเห็นอะไรต่อรายงานข่าวของสื่ออเมริกันที่ว่า สหรัฐฯอาจจะพิจารณาส่งเครื่องบินและเรือรบล่วงล้ำเข้าไปภายในเขต 12 ไมล์ทะเลห่างจากบริเวณที่จีนทำการถมทะเล เพื่อเป็นการยืนยันเสรีภาพทางการเดินอากาศ และการเดินเรือของตน แต่พวกเขาก็บอกว่า การถมทะเลของแดนมังกรในหลายบริเวณของหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้นี้ ไม่สามารถทำให้จีนอ้างว่าเป็นดินแดนในอำนาจอธิปไตยของตนได้
ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศยังพากันอ้างคำพูดของพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯที่กล่าวก่อนหน้าเคร์รีจะพบปะเจรจากับฝ่ายจีนในคราวนี้ว่า เคร์รีจะใช้แนวทางที่แข็งกร้าวหนักแน่น และทำให้ฝ่ายจีน “ไร้ข้อสงสัยอย่างสิ้นเชิงว่าสหรัฐฯยังคงมีความยึดมั่นอยู่กับการธำรงรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและเดินอากาศ”
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า เคร์รีไม่ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวเช่นนั้นให้เห็นในเวลาที่อยู่ต่อหน้าสาธารณชน
ถึงแม้มีความเห็นไม่ตรงกันอย่างชัดเจนในเรื่องทะเลจีนใต้ แต่ทั้ง เคร์รี และ หวัง ก็แถลงว่า พวกเขายังคงอยู่ในเส้นทางที่จะสร้างความคืบหน้าให้แก่เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การต่อสู้กับลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง และการเตรียมตัวสำหรับ “การสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ - จีน” รอบต่อไปที่กำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน และการเดินทางไปเยือนวอชิงตันของสีในเดือนกันยายน
พวกเขายังแสดงความยินดีกับความร่วมมือกันของทั้งสองฝ่ายในการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการพยายามหาทางทำให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์, และการต่อสู้กับโรคร้ายแรงต่างๆ อาทิ ไวรัสอีโบลา