xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ อย่าเหลิง! ชี้เด็ดหัว “ผู้นำก่อการร้าย” แต่เครือข่ายอิสลามิสต์ยังเติบโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม็อคตาร์ เบลม็อคตาร์ ผู้ก่อการร้ายชาวแอลจีเรีย หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ อัล-มูราบิทูน ซึ่งเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีโรงแยกก๊าซ อิน อามีนาส ในแอลจีเรีย เมื่อต้นปี 2013 (ซ้าย) และ นาซีร์ อัล-วูไฮชี หัวหน้าเครือข่ายอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบีย (AQAP)
เอเอฟพี - การส่งอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เข้าไปปลิดชีพผู้นำกลุ่มอิสลามิสต์ถือเป็นยุทธวิธีหลักที่สหรัฐฯ ใช้ในสงครามต่อต้านก่อการร้าย ทว่าปฏิบัติการโจมตีที่มุ่งสังหารแกนนำเพียงอย่างเดียวยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผู้เชี่ยวชาญเตือน

ทำเนียบขาวแถลงยืนยันวานนี้ (16 มิ.ย.) ว่า นาซีร์ อัล-วูไฮชี ผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบีย (AQAP) ถูกโดรนของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) สังหารแล้ว ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ต่อนักรบญิฮาดกลุ่มนี้

ก่อนหน้านั้นไม่นานก็มีข่าวว่า ม็อกตาร์ เบลม็อกตาร์ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธในทะเลทรายสะฮาราซึ่งเคยอยู่เบื้องหลังการบุกยึดโรงกลั่นน้ำมันในแอลจีเรีย ถูกสังหารในปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐฯ ระหว่างการชุมนุมผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์ทางภาคตะวันออกของลิเบีย

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสังหารผู้นำอิสลามิสต์ครั้งที่ผ่านๆ มาไม่อาจยับยั้งการแพร่ขยายของลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง และก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ความสำเร็จเชิงยุทธวิธีเช่นนี้จะนำไปสู่ชัยชนะในทางยุทธศาสตร์ได้จริงหรือไม่

นิค เฮราส จากศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ (Center for a New American Security) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า ความตายของ อัล-วูไฮชี อาจยิ่งทำให้ AQAP แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

“มีความเป็นไปได้สูงที่เครือข่ายอัลกออิดะห์กลุ่มนี้จะผงาดขึ้นมาใหม่หลังหัวหน้ากลุ่มของพวกเขาถูกลอบสังหาร และอาจแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมเสียอีก โดยมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ต่างไปจากเดิม” เฮราส ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

AQAP ซึ่งเคยออกมาประกาศความรับผิดชอบต่อเหตุกราดยิงนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด เมื่อต้นปีนี้ ถูกมองว่าเป็นสาขาของอัลกออิดะห์ที่ยังมีพิษสง และเป็นอันตรายต่อโลกตะวันตกมากที่สุด ซึ่งสงครามกลางเมืองในเยเมนก็เป็นโอกาสให้นักรบกลุ่มนี้แผ่ขยายอิทธิพลกว้างไกลออกไปอีก

หลังข่าวการตายของ อัล-วูไฮชี ถูกเปิดเผย AQAP ก็ประกาศแต่งตั้ง กอสเซ็ม อัล-รีมี ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ทันที

เฮราส ชี้ว่า อัล-รีมี ผู้นี้ “เป็นผู้นำที่ค่อนข้างเน้นการโจมตีเป้าหมายตะวันตก... และมีหัวคิดในด้านการส่งกำลังบำรุง (logistics) ดังนั้น ถึงแม้เขาจะยังไม่มีบารมีเท่าที่ควร แต่จะเป็นผู้นำกลุ่มที่มีประสิทธิภาพมากกว่า”

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด เฮราส จึงเตือนว่า ปฏิบัติการโดรนของสหรัฐฯ “อาจมีผลทางอ้อมทำให้ AQAP ยิ่งร้ายกาจมากขึ้น”

“การมุ่งสังหารบุคคลโดยไม่ได้ทำลายโครงสร้างทั้งหมดขององค์กร อาจจะทำให้การควบคุมเขตอิทธิพลอ่อนแอลงไปบ้าง แต่ไม่สามารถขจัด AQAP ออกไปจากเยเมนได้”

เครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อโลกเรื่อยมา ทั้งที่หัวหน้าใหญ่อย่าง อุซามะห์ บินลาดิน ถูกหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ “ซีล” ของสหรัฐฯ บุกไปปลิดชีพถึงรังกบดานในปากีสถาน เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2011

กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังรุกรานอิรักและซีเรียอยู่ในขณะนี้ก็ถือกำเนิดขึ้นจากการล่มสลายของเครือข่ายอัลกออิดะห์ในอิรัก (AQI) หลังจาก อบู มูซาบ อัล-ซาร์กอวี ผู้ก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวถูกสังหารโดยเครื่องบินของสหรัฐฯ ส่วนผู้นำคนอื่นๆ ก็ถูกส่งเข้าเรือนจำ

เมื่อปี 2014 สหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีกลุ่มติดอาวุธทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย แต่ปรากฏว่ามีพลเรือนถูกลูกหลงไปด้วย ซึ่ง เฮราส ชี้ว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ “ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโกรธแค้น” และมีส่วนทำให้กองกำลังท้องถิ่นที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ค่อยๆ เสื่อมอิทธิพลลงไป

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อเมริกันเองกลับมองความสำเร็จล่าสุดไปในเชิงบวกมากกว่า โดย พ.อ.สตีฟ วอร์เรน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ว่า การสังหารผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์สะท้อนให้เห็นว่า แม้อเมริกาจะไม่มีทหารแนวหน้าประจำการอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว แต่ก็ยังสามารถบั่นทอนกำลังของศัตรูได้

กำลังโหลดความคิดเห็น