ผ่านมาแล้ว 1 ปีเต็มหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้เริ่มต้นปฏิบัติการรุกคืบบุกเข้ายึดเมืองสำคัญทางตอนเหนือของอิรักและซีเรีย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ในวันนี้ยังคงมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และดูเหมือนความรุนแรง ความแตกแยกเกลียดชัง และการเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อนที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติจะยังคงไม่ยุติลงง่ายๆ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2014 กลุ่มไอเอสได้ส่งกองกำลังเข้ายึดเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือของอิรักจนครอบครองพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ และได้ประกาศพื้นที่ที่พวกเขายึดครองไว้ได้ในอิรักและซีเรียเป็น “รัฐคอลีฟะห์” ปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกได้เห็นหลังจากนั้นคือการประหารชีวิตเชลยด้วยวิธี “ฆ่าตัดหัว” อย่างโหดเหี้ยม รวมไปถึงการสังหารหมู่ จับเป็นทาส และข่มขืนกระทำชำเรา
แม้กองทัพอิรักและสามารถขับไล่นักรบญิฮาดและยึดคืนพื้นที่บางส่วนกลับมาได้บ้าง ทว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคตะวันตกยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของพวกไอเอส นักรบอิสลามิสต์ยังสามารถรุกคืบไปสู่เมืองอื่นๆ แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากกองทัพแบกแดด และปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกว่า 4,000 ครั้งโดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
สงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2011 เป็นเสมือนแหล่งฟูมฟักและสนามฝึกยุทธวิธีสำหรับกลุ่มไอเอส ขณะที่ความโกรธแค้นในหมู่ชาวสุหนี่อิรักซึ่งมองว่ารัฐบาลชีอะห์กำลังกดขี่ข่มเหงและเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา ก็เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ช่วยกระตุ้นให้ปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธสำเร็จลุล่วงได้ง่ายขึ้น
“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไอเอสเฟื่องฟูขึ้นมาได้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข” แพทริก สกินเนอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาด้านข่าวกรอง ซูฟาน กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ “และนั่นหมายความว่า ถึงแม้พวกเขาจะถูกขับไล่ออกจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่ไอเอสจะยังคงแฝงตัวเหมือนเชื้อโรคร้ายในเส้นโลหิตของประเทศอิรักต่อไป”
เมื่อปีที่แล้ว นักรบไอเอสใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงในการบุกยึดโมซุล เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก ทั้งๆ ที่คนของพวกเขามีจำนวนน้อยกว่าทหารของรัฐบาลมาก และเมื่อพวกเขาร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธพันธมิตรอื่นๆ เพื่อรุกคืบลงสู่ทิศใต้ ก็ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหวั่นเกรงว่าแม้แต่ “กรุงแบกแดด” เองก็อาจจะต้องเสียให้แก่พวกนักรบญิฮาดในที่สุด
ความสำเร็จของไอเอสในการบุกเข้าโจมตีค่ายทหารของอิรัก และยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ไปเป็นของฝ่ายตน ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความไร้ประสิทธิภาพ และผลของการทุจริตคอรัปชันที่นำมาซึ่งความอ่อนแอปวกเปียกของกองทัพแห่งชาติ
ชนกลุ่มน้อยยาซิดีทางตอนเหนือของอิรักตกเป็นเหยื่อการลักพาตัว การจับเป็นทาส และการข่มขืนโดยพวกนักรบไอเอสซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาประณามว่าเทียบได้กับความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)
ไอเอสยังได้สังหารหมู่ทหารมุสลิมนิกายชีอะห์หลายร้อยคนบริเวณแม่น้ำไทกริสในเมืองติกริต (Tikrit) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันไปสนับสนุนกองกำลังของแบกแดด ประชาชนนับหมื่นคนอาสาเข้าไปเป็นกองกำลังต่อสู้ไอเอสตามคำเรียกร้องของ อยาตอลเลาะห์ อาลี อัล-ซิสตานี ผู้นำสูงสุดของมุสลิมชีอะห์ในอิรัก แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เป็นฟันเฟืองหลักของ “ขบวนการประชาชน” (Popular Mobilisation Forces) ต่อสู้ไอเอสกลับเป็นพวกกองกำลังท้องถิ่นนิกายชีอะห์ที่ได้รับการฝึกฝนมาจากอิหร่าน
กลุ่มติดอาวุธชีอะห์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการช่วงชิงเมืองและจังหวัดใหญ่ๆ คืนมาจากพวกไอเอส และเป็นที่รักใคร่ของชาวอิรักนิกายชีอะห์ด้วย แต่หากจะมองอีกด้านหนึ่ง อิทธิพลของกองกำลังชีอะห์เหล่านี้ก็นับว่าเป็นภัยคุกคามสำหรับรัฐบาลอิรัก ซึ่งที่ผ่านมาอ้างว่าสามารถ “บัญชาการ” พวกเขาได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีอำนาจ “ควบคุม” และท้ายที่สุดก็เป็นไปได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายอาจหันมาจับอาวุธห้ำหั่นกันเอง
ช่วงเวลา 1 ปีที่ไอเอสขยายอิทธิพลยังส่งผลให้เส้นพรมแดนและลักษณะทางประชากรในอิรักเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประชาชนเกือบ 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานตั้งแต่ช่วงต้นปี 2014 พื้นที่ซึ่งเคยเป็นถิ่นของชาวชีอะห์และเคิร์ดก็มีชาวอาหรับสุหนี่อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ นอกจากนี้ เมื่อทหารอิรักถูกไอเอสโจมตีจนต้องเป็นฝ่ายล่าถอย พวกชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานก็ฉวยโอกาสขยายอาณาเขต และการที่กรุงแบกแดดจะต่อสู้เพื่อชิงดินแดนเหล่านั้นคืนมาในภายหลังก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
การแผ่อิทธิพลของไอเอสยังทำให้สหรัฐฯ ถูกดึงกลับมาสู่วังวนความขัดแย้งในอิรักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา พยายามปิดฉากสงครามอิรักลงได้แล้วเมื่อปี 2011
สหรัฐฯ ได้จับมือกับประเทศพันธมิตรส่งเครื่องบินเข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีฐานที่มั่นของไอเอส และยังส่งทหารหลายพันนายเข้าไปช่วยฝึกฝนยุทธวิธีให้แก่กองทัพอิรัก แต่ภาพที่ปรากฏในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นักรบไอเอสนั้นมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อการโจมตียิ่งกว่าที่ฝ่ายตะวันตกคาดคิด และเมื่อเดือนที่แล้วก็สามารถยึดรามาดี (Ramadi) เมืองเอกที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจังหวัดอันบาร์ไปได้
แม้จะต้องปะทะกับกองกำลังฝ่ายตรงข้ามทั้งในอิรักและซีเรีย แต่ไอเอสก็ยังสามารถแผ่ขยายอิทธิพลออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับนักรบท้องถิ่น เช่น กลุ่มติดอาวุธในลิเบีย โบโกฮารัมในไนจีเรีย และกลุ่มติดอาวุธย่อยๆ ในซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
การถือกำเนิดของไอเอสไม่เพียงบั่นทอนอนาคตของอิรัก แต่ยังทำลายมรดกทางวัฒนธรรมในอดีต ซากเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายแห่ง เช่น นิมรูด และฮาตรา ถูกนักรบไอเอสใช้เครื่องมือทุบหรือระเบิดทำลาย ขณะที่โบราณวัตถุจำนวนมากถูกกลุ่มติดอาวุธขโมยไปขายเพื่อนำเงินมาเป็นทุนปฏิบัติการ
สหรัฐฯ มีแผนส่งทหารเข้าไปช่วยฝึกฝนกองกำลังอิรักเพิ่มเติมอีกหลายร้อยนาย รวมถึงจัดส่งอาวุธผ่านทางรัฐบาลแบกแดด แต่ถึงกระนั้น โอบามา ก็ยอมรับเมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ว่า สหรัฐฯ ยัง “ไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน” ที่จะช่วยอิรักกำจัดพวกไอเอส และต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายอิรักเป็นสำคัญที่จะต้องปรับปรุงทั้งในด้านการบริหารจัดการกองทัพ และการเกณฑ์คนให้เข้ามาร่วมต่อสู้ในสงครามครั้งนี้