เอพี - เจ้าหน้าที่อเมริกันชี้ การที่ทำเนียบขาวกำลังจะประกาศตัดสินใจในเร็ววันนี้ ว่าจะจัดส่งทหารสหรัฐฯเข้าไปในอิรักเพิ่มขึ้นอีก เพื่อขยายการฝึกกองกำลังอาวุธในจังหวัดอันบาร์นั้น ไม่ใช่หมายความว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ หากแต่เพื่อช่วยอิรักชิงเมืองรามาดีกลับคืน และมุ่งทำลายโมเมนตัมในการสู้รบของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในท้ายที่สุด
การตัดสินใจดังกล่าวซึ่งอาจมีการประกาศออกมาอย่างเร็วที่สุดในวันพุธ (10 มิ.ย.) จะมีการเพิ่มค่ายฝึกของสหรัฐฯ ในอิรักจาก 4 แห่งเป็น 5 แห่ง และเปิดโอกาสให้อาสาสมัครจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิรักที่นับถืออิสลามนิกายสุหนี่ ได้เข้าร่วมทำสงครามต่อต้านกลุ่มไอเอส แผนการนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางโดยองค์รวมของอเมริกาที่ต้องการสร้างกองกำลังอาวุธของอิรักให้เข้มแข็งไปด้วย ในขณะที่ตนเองดำเนินโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายต่างๆ ของไอเอส
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวย้ำเรื่อยมาว่า ปัจจัยอันสำคัญยิ่งสำหรับการขับไล่ไอเอสให้ออกจากจังหวัดอันบาร์ ได้แก่การดึงชาวสุหนี่เข้ามาร่วมสงครามให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามสำคัญอยู่ว่า รัฐบาลอิรักในปัจจุบันที่นำโดยชาวมุสลิมนิกายชีอะต์ จะยอมอ้าแขนรับนักรบสุหนี่หรือไม่ เพื่อการขับไล่พวกไอเอสให้ออกจากรามาดี เมืองเอกของอันบาร์ที่ไอเอสตีแตกเมื่อเดือนที่แล้ว รวมทั้งเมืองฟอลลูจาห์ที่ตกเป็นของนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้มากว่าปี
ประธานาธิบดีโอบามานั้น ยืนกรานไม่ส่งทหารหน่วยสู้รบทางภาคพื้นดินของสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมสงครามในอิรักอีกครั้ง โดยขณะนี้ มีทหารอเมริกันอยู่ในอิรักไม่ถึง 3,100 คนเพื่อปฏิบัติภารกิจในการฝึก ให้คำปรึกษา รักษาความปลอดภัย และการสนับสนุนอื่นๆ ถึงแม้กองทหารอเมริกันยังปฏิบัติภารกิจในการโจมตีทางอากาศ สอดแนมทางอากาศ และรวบรวมข่าวกรองเพื่อหาทางบ่อนทำลายกองกำลังไอเอส ทว่าปล่อยให้ทหารภาคพื้นดินของอิรัก เป็นผู้รับหน้าที่ชิงดินแดนคืนเอง
เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งที่ขอไม่ให้ออกนาม เนื่องจากทำเนียบขาวยังไมได้ประกาศการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องนี้ เปิดเผยในวันพุธ ว่า ค่ายฝึกแห่งใหม่แห่งที่ 5 ของอเมริกาจะอยู่ที่ อัล-ตักกอดุม ฐานทัพอากาศในทะเลทรายที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ ระหว่างสงครามอิรักปี 2003-2011 โดยการจัดตั้งค่ายฝึกแห่งใหม่นี้จะต้องใช้ทหารอเมริกัน 400-500 คน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นครูฝึก เจ้าหน้าที่พลาธิการ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ปัจจุบัน อเมริกามีค่ายฝึกในอิรัก 4 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ใกล้ๆ กรุงแบกแดด แห่งที่ 3 อยู่ที่ฐานทัพอากาศในจังหวัดอันบาร์ และแห่งสุดท้ายอยู่ใกล้เมืองเออร์บิล ทางเหนือของอิรัก
ยังไม่มีความชัดเจนว่า ค่ายฝึกแห่งใหม่ที่อาจจะพร้อมเริ่มดำเนินการในฤดูร้อนนี้ จะฝึกทหารอิรักเพื่อส่งเข้าต่อสู้กับไอเอสได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ในปีที่แล้ว อเมริกาช่วยฝึกทหารให้อิรักได้ประมาณ 9,000 คน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูจะแน่นอนแล้วก็คือจะไม่มีการส่งกองทหารอเมริกันเข้าไปใกล้ๆ แนวหน้าของการสู้รบ เพื่อทำหน้าที่ช่วยชี้เป้าการโจมตีทางอากาศ หรือให้คำแนะนำการรบแก่หน่วยย่อยของอิรัก กระนั้น เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งระบุว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้อาจจะรวมถึงการเร่งรัดจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ทหารบางหน่วยของอิรัก
เมื่อวันอังคาร (9) พลเอกมาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานเสนาธิการร่วมทางทหารของสหรัฐฯ กล่าวขณะอยู่ในนครเยรูซาเลมว่า ได้ยื่นข้อเสนอเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่อโอบามาแล้ว และชี้ว่าในขณะนี้โอบามาอาจจะต้องพิจารณาคำถามต่างๆ จำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า ทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานและที่อื่นๆ ในโลกจะต้องมีการเปรับเปลี่ยนกิจกรรมอย่างไรหรือไม่ หากอเมริกาเข้าร่วมในสงครามอิรักมากขึ้น
เดมป์ซีย์เสริมว่า เพนตากอนยังกำลังทบทวนหนทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการโจมตีทางอากาศ ซึ่งถือเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ของโอบามา ในการกรุยทางให้ทหารภาคพื้นดินของอิรัก สามารถเข้ายึดดินแดนคืนจากไอเอส
ตัวโอบามาเองกล่าวยอมรับในวันจันทร์ (8) ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯยังคงไม่มี “ยุทธศาสตร์ที่พร้อมสมบูรณ์” ในการฝึกกองกำลังอาวุธชาวอิรัก และเรียกร้องรัฐบาลชีอะห์เปิดทางให้อาสาสมัครชาวสุหนี่เข้าร่วมในการสู้รบกับไอเอสให้มากขึ้น
เดมป์ซีย์สำทับว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โอบามาขอให้ทีมความมั่นคงแห่งชาติตรวจสอบและพิจารณาวิธีการในการปรับปรุงประสิทธิภาพการฝึกและติดอาวุธให้ทหารอิรัก หลังจากมีเสียงวิจารณ์แนวทางนี้ของวอชิงตัน แม้กระทั่งแอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมเองยังแสดงความเคลือบแคลง โดยแถลงว่า การที่กองทัพอิรักละทิ้งรามาดีจนไอเอสยึดไปได้อย่างไม่ยากไม่เย็นอะไรนั้น บ่งชี้ให้ว่า ชาวอิรัก “ไม่มีใจในการรบ”
ประธานเสนาธิการร่วมทางทหารของสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางของอเมริกาในอิรักอย่างถอนรากถอนโคน แต่ยอมรับว่า ความพยายามอาจดำเนินไปล่าช้าเกินไป หรือเปิดช่องไปสู่ความล้มเหลว
เดมป์ซีย์ระบุว่าคำถามหนึ่งในหลายๆ ข้อที่โอบามากำลังขวนขวายหาคำตอบก็คือ “มีวิธีการใดหรือไม่ที่จะทำให้ทหารอิรักมั่นใจมากขึ้น”