เอเอฟพี - นับตั้งแต่ต้นปีมีผู้อพยพมากกว่า 100,000 คน เสี่ยงชีวิตล่องเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ยุโรป สหประชาชาติเผยในวันอังคาร (9 มิ.ย.) พร้อมตั้งข้อสังเกตเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งในซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เปิดเผยว่านับเริ่มต้นปี มีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมากกว่า 103,000 คน เสี่ยงชีวิตล่องเรือที่บ่อยครั้งมีสภาพง่อนแง่นข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังยุโรป โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่าส่วนใหญ่เกือบ 54,000 คนขึ้นฝั่งในอิตาลี และอีก 48,000 คนขึ้นฝั่งกรีซ ส่วนอีก 920 คนขึ้นฝั่งสเปนและมอลตา รับผู้อพยพขึ้นฝั่ง 91 คน
คนเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในผู้โชคดี เนื่องจากยังมีอีกจำนวนมากเดินทางไม่ถึงจุดหมาย โดยบ่อยครั้งเรืออัปปางและจมลงกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และนับตั้งแต่ต้นปีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้อพยพและผู้ลี้ภัยไปแล้วเกือบ 1,800 ศพ
อาเดรียน เอ็ดวาร์ดส์ โฆษกของยูเอ็นเอชซีอาร์บอกกับผู้สื่อข่าวในเจนีวา ว่าทางองค์กรของเขากำลังเพิ่มบุคลากรที่ประจำการในกรีซและทางภาคใต้ของอิตาลี เพื่อตอบสนองของการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของจำนวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึง
ในจำนวนล่าสุดนี้รวมไปถึงผู้คนเกือบ 6,000 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ที่ได้รับความช่วยเหลือขึ้นจากเรือประมงและเรือยางที่แออัดยัดเยียดนอกชายฝั่งลิเบียและถูกพาตัวขึ้นฝั่งอิตาลีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในนั้นมีสตรีตั้งครรภ์และเด็กรวมอยู่ด้วยหลายคน
โฆษกของยูเอ็นเอชซีอาร์ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของจำนวนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพซึ่งมุ่งหน้าสู่กรีซ ทั้งที่ตลอดทั้งปี 2014 มีแค่ 34,000 คน โดยเร็วๆ นี้พบเห็นผู้อพยพพยายามมุ่งหน้าจากชายฝั่งตุรกีสู่หมู่เกาะอีเจียนของกรีซเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ผู้อพยพจากประเทศยากจนหรือได้รับผลกระทบจากภัยสงครามในเอเชียและแอฟริกา นิยมล่องเรือข้ามมาจากตุรกี โดยใช้กรีซเป็นทางเข้าเพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามได้มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากมันเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตราย
เอ็ดวาร์ดส์บอกว่า หมู่เกาะของกรีซแห่งนี้ต้องรองรับผู้อพยพเฉลี่ยแล้วกว่า 600 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้หลบหนีภัยความขัดแย้งในซีเรีย อัฟกานิสถาน และอิรัก โดยราวครึ่งหนึ่งไปขึ้นฝั่งที่เกาะเลสวอส
“จำนวนผู้ลี้ภัยมากสุดเป็นประวัติการณ์กำลังมุ่งหน้าสู่เลสวอสด้วยเรือยางและเรือไม้ ทำให้ทรัพยกรและความสามารถในการรองรับตกอยู่ในความตึงเครียดใหญ่หลวง” เขาเตือนว่าศูนย์รองรับต่างๆ เต็มความจุแล้ว พร้อมเรียกร้องภาครัฐและองค์กรประชาสังคมต่างๆช่วยรับมือ “เราต้องหาทางให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ชุมชนบนเกาะที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน”