xs
xsm
sm
md
lg

ครบ1ปียึดอำนาจ สื่อนอกตีข่าวภาคธุรกิจไทยยังหนุนหลังคณะรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - ครบ 1 ปีรัฐประหาร สื่อต่างประเทศรายงานสถาบันทางธุรกิจของไทยยังคงหนุนหลังรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซึมเซาและเลื่อนกำหนดเวลาหวนคืนสู่ประชาธิปไตย ระบุไทยต้องหยุดชะงักมานานจากปัญหาทางการเมือง ชี้เสถียรภาพทางการเมืองและความสงบเรียบร้อย คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประเทศ

ในรายงานพาดหัว A year after Thai coup, stability trumps growth for business สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุเมื่อครั้งที่กองทัพไทยเข้ายึดอำนาจผ่านการรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด เหล่าสถาบันทางธุรกิจส่วนใหญ่ต่างส่งเสียงเชียร์อย่างเงียบๆ และพอ 1 ปีผ่านไป เหล่าผู้นำอุตสาหกรรมของประเทศก็ยังคงหนุนหลังอย่างมั่นคงต่อคณะรัฐประหาร แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซึมเซาและเลื่อนกำหนดเวลาหวนคืนสู่ประชาธิปไตย

สำหรับภาคธุรกิจ ความสงบบนท้องถนนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกห้อมล้อมด้วยความยุ่งเหยิงยืดเยื้อนานหลายเดือน มีความสำคัญมากกว่าการหาทางรักษาอาการกระเสาะกระแสะในชาติเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

"ผมพอใจ เพราะอย่างน้อยๆมันก็ทำให้ประเทศสงบและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย" ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยบอกกับรอยเตอร์

รอยเตอร์ระบุว่าหลายเดือนในช่วงต้นปี 2014 รัฐบาลไทยต้องเป็นอัมพาต หลายพื้นทีในกรุงเทพฯคละคลุ้งไปด้วยแก๊สน้ำตาและอาคารราชการต่างๆถูกจัดแจงป้องกันดูราวกับฐานทัพทหาร อย่างไรก็ตามดร.พจน์บอกว่าตอนนี้เงื่อนไขต่างๆสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว "มีความพยายามปฏิรูปตามโรดแมปของคณะรัฐประหาร" เขากล่าวกับสื่อต่างชาติชื่อดัง "ไทยต้องหยุดชะงักมาเป็นเวลานานเพราะปัญหาทางการเมือง ดังนั้นเศรษฐกิจจึงได้โอกาสฟื้นตัว"

นอกจากนี้รอยเตอร์ยังอ้างคำสัมภาษณ์ของ ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์. รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร. บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) บอกว่าสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุดคือความมั่นคง "เราต้องการเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อนักธุรกิจจะสามารถวางแผนลงทุนในระยะยาว" เขากล่าว "ประเทศต่างๆอย่างจีน เวียดนามและพม่า รัฐบาลของพวกเขาสามารถบังคับใช้นโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆเพื่อให้การลงทุนเดินหน้าได้"

ในรายงานของรอยเตอร์ระบุว่าเมื่อวันอังคาร(19พ.ค.) คณะรัฐประหารเลื่อนแผนเลือกตั้งออกไปอย่างน้อย 6 เดือน จนถึงเดือนสิงหาคม 2016 เพื่อเปิดทางจัดลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามดูเหมือนเหล่าผู้บริหารจะไม่กังวลต่อเรื่องนี้ "เราไม่จำเป็นต้องด่วนเลือกตั้งหรอก" ดร.พจน์กล่าว "ถ้าโรดแมปต้องยืดยาวออกไปเพราะประชามติ ก็ปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นเถิด"

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย ให้คะแนนคณะรัฐประหารสูงลิ่วในด้านบริหารจัดการทางการเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจแล้วให้คะแนนน้อยกว่า "การลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงล่าช้า" เขาบอกกับรอยเตอร์

รอยเตอร์ระบุว่าแม้มีความหวังว่าเหล่านายพลจะลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค แต่การลงทุนในภาครัฐกลับล้มเหลวไม่สามารถรักษาสถานะให้อยู่ในระดับเดียวกับเมื่อครั้งที่อยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลชุดก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกข้าราชการหวั่นกลัวต่อมาตรการต่อต้านคอรัปชันของคณะรัฐประหาร

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าคณะรัฐประหารพลาดโอกาสในการใช้อำนาจที่ไม่ถูกจำกัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและปฏิรูป "มีความคาดหมายค่อนข้างสูงตอนที่ทหารเข้ายึดอำนาจว่าจะมีการเริ่มต้นใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว" รอยเตอร์อ้างความเห็นของ บิลล์ ดิวินีย์ นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์สในสิงคโปร์ "แต่หากนึกย้อนกลับไป มันดูไม่สมจริงนักที่มีความคาดหวังอย่างสูงกับรัฐบาลที่เข้ามารักษาการจนกว่าประเทศจะคืนสู่ประชาธิปไตย"


กำลังโหลดความคิดเห็น