xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’ยื่นไมตรีให้ ‘ปูติน’ โดยส่ง ‘เคร์รี’ ไปเจรจาที่โซชิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Obama’s overture to Putin has paid off
By M K Bhadrakumar
13/05/2015

ถ้าหากดูจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว การเดินทางของรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ไปยังเมืองโซชิ เมืองตากอากาศริมทะเลดำของรัสเซีย เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤษภาคม เพื่อพบเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว และสิ่งที่บังเกิดขึ้นมานี้ก็เป็นไปตามธรรมเนียมแต่ไหนแต่ไรมาของของความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-อเมริกันที่จะต้องมีการปิดฉากลงท้ายอย่างสวย

ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปตั้งข้อสงสัยเอากับการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งยังคงออกมากล่าวบรรยายสรุปให้สื่อมวลชนรับฟัง แม้ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ กำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองโซชิ เมืองตากอากาศริมทะเลดำของแดนหมีขาวอยู่แล้ว เพื่อเข้าพบเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียในวันอังคาร 12 พฤษภาคม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นถึงขนาดกล่าวว่า “ท่านรัฐมนตรีและ (รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เกย์) ลาฟรอฟ มีการพูดจาหารือกันมาระยะหนึ่งแล้ว เกี่ยวกับจังหวะเวลาที่เงื่อนไขต่างๆ น่าจะสุกงอม และสำหรับฝ่ายเรา (สหรัฐฯ) นั้น เห็นได้ชัดเจนว่าต้องการให้เกิดความมั่นใจว่า ถ้าหากท่าน (รัฐมนตรีเคร์รี) จะเดินทางไป (ยังรัสเซีย) แล้ว ท่านจะได้รับโอกาสให้พูดจากับผู้มีอำนาจตัดสินใจคนสำคัญที่สุด (ซึ่งก็คือ ปูติน นั่นเอง)”

อันที่จริง ถ้าหากดูจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว การเจรจาหารือที่เมืองโซชิเมื่อวันที่ 12 พ.ค. คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และสิ่งที่บังเกิดขึ้นมานี้ก็เป็นไปตามธรรมเนียมแต่ไหนแต่ไรมาของของความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-อเมริกันที่จะต้องมีการปิดฉากลงท้ายอย่างสวย พวกพลพรรคอาสาสมัครของทั้งสองฝ่ายซึ่งได้สู้รบกันอย่างดุเดือดในสงครามสื่อตลอดรอบปีที่ผ่านมา บางทีอาจจะถึงขั้นขบคิดใหลหลงไปว่า “สงครามเย็นครั้งใหม่” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็มีความรู้สึกว่าพวกเขากำลังเป็นประจักษ์พยานผู้เฝ้าชมการถือกำเนิดขึ้นมาของระเบียบโลกแห่งยุคใหม่ ครั้นมาบัดนี้วอชิงตันกับมอสโกกลับหันกลับมาพูดจาแบบรอมชอมมีมิตรไมตรีต่อกัน ทั้งสองพวกนี้ย่อมจะต้องเกิดความรู้สึกเหมือนกับถูกทรยศหักหลัง

น้ำเสียงที่พูดถึงรัสเซียของเจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯรายนี้ ซึ่งมีลักษณะสุภาพและถ่อมตน ถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับการแสดงออกต่อมอสโกของวอชิงตันในตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากฝ่ายรัสเซียได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถที่จะยึดมั่นในแนวทางนโยบายของตนเองอย่างเหนียวแน่นมั่นคงชนิดที่ใครคนอื่นเทียบเคียงได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นการพิทักษ์ปกป้องสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางของพวกเขา และมาถึงตอนนี้คณะบริหารโอบามาก็ทำความเข้าใจซาบซึ้งกับเรื่องนี้แล้ว

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำก็คือ สหรัฐฯยังเข้าอกเข้าใจด้วยว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ในความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับรัสเซีย พวกเขาจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ตามหลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “กฎการลดน้อยถอยลงของผลผลิตที่ได้ตอบแทนกลับมา” (law of diminishing returns)

พูดง่ายๆ ก็คือ บัดนี้ ได้มีจีนเข้ามาปรากฏตัวบนภูมิทัศน์ยูเรเชียอันทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในครั้งแรก ขณะที่สหรัฐฯกำลังมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเหลือเกินที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัสเซียในตะวันออกกลาง ยิ่งกว่าระยะเวลาใดๆ นับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้หมีขาวจะแสดงออกซึ่งความองอาจห้าวหาญของพวกเขาสักเพียงใดก็ตาม แต่ชนชั้นนำรัสเซียก็เข้าอกเข้าใจดีแล้วว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตของพวกเขาจะต้องมืดมัวไม่รู้หาย ถ้าหากยังคงถูกเล่นงานด้วยมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทั้งทางการเงิน, การลงทุน, และการค้าต่อไปอีกอย่างไม่มีการผ่อนผัน พวกเขาตระหนักด้วยเช่นกันว่า ด้วยอัตราความเร็วของความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับปักกิ่งอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ในที่สุดแล้วพวกเขาก็คงจะต้องยินยอมรับบทบาทที่เป็นแค่หุ้นส่วนระดับจูเนียร์ ของจีนเท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกอาจจะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของแดนหมีขาวตลอดจนการถูกแยกตัวโดดเดี่ยวที่รัสเซียได้รับอยู่ในเวลานี้ ทว่าชีวิตนั้นถึงอย่างไรก็จะต้องดิ้นรนกันต่อไป และในที่สุดก็คงเหลือแต่พวกชนชั้นนำในมอสโกเท่านั้น ซึ่งมีหน้าที่ต้องคอยแก้ไขรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อมองย้อนหลังกลับไปเพื่อสรุปบทเรียน สามารถกล่าวได้ว่าฝ่ายรัสเซียตั้งความหวังเอาไว้สูงอย่างไม่สอดคล้องความเป็นจริง ในเรื่องที่คาดฝันว่าพวกพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯจะกล้าหาญดำเนินโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซีย ดูเอาเถอะ แม้กระทั่งกรีซ (ซึ่งรัฐบาลที่นำโดยพรรคฝ่ายซ้ายจัด ประกาศนโยบายไม่เอาการใช้มาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจ และใช้ท่าทีพร้อมชนกับอียู –ผู้แปล) ลงท้ายก็ต้องยอมแพ้เช่นเดียวกัน

ในที่สุด รัสเซียก็ต้องหวนกลับมาทบทวนดูว่ามันเป็นการคุ้มค่าจริงๆ หรือ ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการผจญภัยอันอึกทึกครึมโครมของ “เอดเวิร์ด สโนว์เดน” (Edward Snowden) ซึ่งเท่ากับเป็นการรหยามหมิ่นสหรัฐฯและสร้างความสับสนซับซ้อนให้แก่สายสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับพันธมิตรใกล้ชิดทั้งหลาย ทั้งนี้มอสโกควรจะสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างง่ายดาย (เฉกเช่นเดียวกับปักกิ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าได้คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้และตระเตรียมทางหนีทีไล่รองรับ) ว่า “จักรวรรดิ” สหรัฐฯอเมริกาจะต้องโจมตีแก้เผ็ดอย่างแน่นอน และเป็นการเอาคืนแบบโหดสุดๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ย่อมไม่มีคำตอบอันเด่นชัดและง่ายดายใดๆ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดกันตามเนื้อผ้าแล้ว มันจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเลย หากจะประเมินผลลัพธ์จากการเดินทางไปเจรจาที่โซชิของเคร์รี โดยใช้ถ้อยคำแบบคำว่า “ผ่าทางตัน” (breakthroughs) อันที่จริงแล้ว ไม่มีฝ่ายใดคาดหมายกันเลยว่าจะเกิดการ “ผ่าทางตัน” ใดๆ อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดในภารกิจเที่ยวนี้ของเขาก็ถือว่าบรรลุผลแล้ว ก้อนน้ำแข็งเย็นเยือกที่เคยห่อหุ้มปกคลุมความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกันอยู่ บัดนี้ได้แตกแยกปริหักออกไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น การเจรจา 2 นัดในโซชิ (คือการเจรจาระหว่าง เคร์รี กับ ปูติน ที่ใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง และการเจรจาระหว่าง เคร์รี กับ ลาฟรอฟ ที่ใช้เวลาพอๆ กัน –ผู้แปล) ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้นกว่า 8 ชั่วโมง ยังได้ครอบคลุมพาดพิงถึงประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนมาก

ในการแถลงสรุปผลการเจรจาหารือต่อสื่อมวลชนที่โซชิคราวนี้ ทั้ง เคร์รี และ ลาฟรอฟ ต่างมุ่งลดทอนทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องยูเครน ตรงกันข้ามพวกเขากลับหันมาเน้นหนักอย่างน่าสังเกตต่อผลประโยชน์ที่สองฝ่ายมีอยู่ร่วมกันในการแสวงหาหนทางแก้ไขคลี่คลายวิกฤตนี้ “อย่างรอบด้าน” การเจรจากันในโซชิดูเหมือนจะนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันที่ว่า ฝ่ายไหนๆ ก็จะต้องไม่ทำอะไรที่จะเป็นการเร่งรัดก่อกวนให้เกิดความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นมา ความเข้าใจเช่นนี้น่าจะส่งผลอันเป็นประโยชน์ต่อ “พวกสายเหยี่ยว” ในกรุงเคียฟเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ออกมาจากการเจรจาโซชิ ก็คือ สหรัฐฯกับรัสเซียเห็นพ้องกันที่จะเปิดฉากใช้ความพยายามร่วมกันครั้งใหม่เพื่อผลักดันให้มีการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายต่างๆ ในซีเรีย นอกจากนั้น เคร์รีดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการบีบคั้นจนได้รับคำมั่นจากมอสโกว่าจะไม่ทำอะไรซึ่งอาจเป็นการก่อกวนสร้างความเสียหายให้แก่ผลลัพธ์ของการเจรจาทำข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่าน ทั้งนี้มีความเป็นไปได้มากทีเดียวว่า การลำเลียงขีปนาวุธ เอส-300 ที่อิหร่านสั่งซื้อจากรัสเซีย จะถูกระงับเอาไว้ต่อไปอีกหลายๆ เดือน

เคร์รีเปิดเผยในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชนคราวนี้ว่า ในการเจรจาที่โซชินี้ ได้มีการหยิบยกเรื่องการประชุมซัมมิตระหว่างสหรัฐฯกับบรรดาผู้นำของชาติสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ในกรุงวอชิงตันและแคมป์เดวิด ขึ้นมาหารือด้วย ทั้ง เคร์รี และ ลาฟรอฟ ต่างเน้นย้ำว่า พวกเขามีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแข็งแกร่งเหนียวแน่น ในเรื่องการสู้รบกับพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) และพวกแนวร่วมอัล-นุสรา (Al-Nusra Front กลุ่มนักรบญิฮัดสุดโต่งที่ถือเป็นสาขาในซีเรียของอัลกออิดะห์ -ผู้แปล) เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันแน่นอนทีเดียวว่าทั้งซาอุดีอาระเบีย และตุรกี ต่างจะได้รับข้อความที่ว่า คณะบริหารโอบามาจะไม่หนุนหลังแผนการเล่นของพวกเขาในซีเรีย ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังน่าจะรู้สึกสับสนไม่สบายใจต่อการที่สหรัฐฯและรัสเซียแสดงความตั้งใจที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน บนหนทางที่จะให้สหประชาชาติเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างกลุ่มต่างๆ ในเยเมน เพราะการเปิดประตูเจรจาสันติภาพกันในลักษณะเช่นนี้ ย่อมจะทำให้การแก้ไขปัญหาด้วยการรณรงค์ทางการทหารเป็นอันใช้การไม่ได้

แทบไม่ค่อยมีการเปิดเผยอะไรออกมาเลยว่า ในการเจรจาโซชิคราวนี้ มีการพูดจากันอย่างไรในเรื่องที่ฝ่ายตะวันตกมีแผนการให้องค์การนาโต้ (NATO องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) หวนกลับเข้าไปในยุทธบริเวณลิเบียอีกครั้ง ทั้งนี้ที่ผ่านมาฝ่ายรัสเซียคอยสกัดกั้นไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นผ่านมติที่จะมอบหมายอำนาจ ซึ่งจะเปิดทางให้นาโต้สามารถกลับเข้าไปแทรกแซงทางการทหารในประเทศอาหรับทางแอฟริกาเหนือแห่งนั้นได้ใหม่

แต่เมื่อฟังจากน้ำเสียงในการแสดงความเห็นของลาฟรอฟเกี่ยวกับการสู้รบกับพวกก่อการร้ายภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ก็ดูเหมือนจะบ่งบอกให้เห็นว่าฝ่ายรัสเซียกำลังมีท่าทีอ่อนลงในการข่มขู่ที่จะใช้อำนาจยับยั้งเพื่อสกัดกั้นญัตติว่าด้วยลิเบียในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น หลังออกจากโซชิแล้ว เคร์รีก็บินต่อไหปยังตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของนาโต้ โดยที่วาระเรื่องการเตรียมตัวเข้าแทรกแซงในลิเบียเร็วๆ นี้ ถูกระบุว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในระเบียบวาระการหารือ

เมื่อนำเอาเรื่องเหล่านี้มาบวกรวมกันแล้ว ถือว่าเป็นผลลัพธ์เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เราประเมินการเดินทางไปโซชิของเคร์รีเที่ยวนี้ว่าคุ้มค่ามาก? คำตอบก็คือ เกือบจะเป็นเช่นนั้นทีเดียว การที่โอบามาแสดงท่าทีหยิบยื่นมิตรไมตรีต่อปูตินคราวนี้ถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะเหม็งยิ่ง มันจะทำให้สหรัฐฯอยู่ในฐานะดีขึ้นมากในระยะต่อไป ในการรับมือกับประเด็นปัญหาร้อนๆ ลวกมือทั้งหลายในตะวันออกกลาง

ในอีกด้านหนึ่ง เราย่อมได้ยินเสียงถอนหายใจด้วยความโล่งอกจากฝ่ายมอสโกแทบจะด้วยระดับความดังพอๆ กันทีเดียว มองจากทัศนะของรัสเซียแล้ว การที่ฝ่ายสหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่มหยิบยื่นมิตรไมตรีมาเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าการบอยคอตต์ของฝ่ายตะวันตกที่กระทำต่อมอสโกเป็นอันสิ้นสุดลง เราอาจจะสามารถคาดหมายได้ว่าหลังจากนี้จะมีรัฐบุรุษจากฟากฝั่งยุโรปเดินทางไปมาหาสู่กับฝ่ายมอสโกเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา อันที่จริง ในเมื่อความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในเรื่องการสู้รบขัดแย้งต่างๆ ในระดับภูมิภาคมีความคืบหน้าไปเช่นนี้ มันก็ย่อมจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมหาอำนาจใหญ่ 2 รายนี้ด้วย (เป็นต้นว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วอชิงตันได้ส่งสัญญาณแสดงความปรารถนาที่จะเชิญมอสโกมาเจรจาหารือกันเกี่ยวกับโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ)

ทั้งวอชิงตันและมอสโกในวันนี้ต่างยังคงอยู่ในอารมณ์ของความรู้สึกอยากกล่าวโทษสั่งสอนคนอื่น ดังที่การแถลงสรุปต่อสื่อมวลชนในโซชิได้บ่งบอกให้เห็นอย่างเด่นชัดมาก พวกเขาเฝ้ามองเข้าไปในสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นมา และไม่ชอบสิ่งที่พวกเขาได้เห็นเลย

เมื่อวิเคราะห์กันจนถึงที่สุดแล้ว โอบามาเป็นผู้ที่ยอมเอาตัวเองเข้าเสี่ยงอย่างสูงลิ่วทีเดียว จากการแสดงท่าทีหยิบยื่นไมตรีจิตต่อรัสเซียเช่นนี้ พวกที่คอยวิพากษ์วิจารณ์เขาและพวกที่คอยประณามว่าร้ายเขาต่างจับจ้องที่จะเล่นงานเขาอย่างแน่นอน เนื่องจากพวกเขามองเห็นแต่เพียงแค่ว่โอบามาเป็นฝ่ายเสนอมิตรไมตรีให้แก่ปูติน และนี่เป็นเพียงการเลี้ยวยูเทิร์นอีกครั้งหนึ่งของโอบามาในแนวรบด้านนโยบายการต่างประเทศอันสำคัญยิ่งยวด

แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาโดดเด่นยิ่งกว่านักการเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ก็คือการที่เขาสามารถนำเอาสติปัญญาระดับสูงเข้ามาส่งผลต่อนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา แน่นอนทีเดียวเขาเป็นผู้ที่ภาคภูมิใจใน “ฝันของอเมริกัน” (American Dream) แต่กระนั้นเขาก็ทราบดีว่าเขากำลังเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในระยะสรุปปิดท้ายของศตวรรษอเมริกันในการเมืองโลกแล้ว การเป็นประธานาธิบดีในช่วงเวลาลาโรงของ “ชั่วขณะที่โลกมีขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียว นั่นคือสหรัฐอเมริกา” ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เขากำลังทำสิ่งนี้ด้วยความสงบราบเรียบ, ด้วยความสง่างดงาม, ด้วยความมีแบบแผนมีวิธีการ เท่าที่เขาสามารถกระทำได้

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เขากำลังก้าวล้ำหน้ากว่าพวกชนชั้นแวดวงการเมืองของอเมริกา ตลอดจนภาคส่วนอันใหญ่โตทีเดียวของพวกปัญญาชนและสื่อมวลชนอเมริกัน –และ แน่นอนที่สุด พวกเพื่อนมิตรและพันธมิตรผู้น่ารำคาญในยุโรปกลาง ซึ่งคอยแต่ส่งเสียงอึกทึกโวยวายเรียกร้องให้ใช้แนวทางแข็งกร้าวกับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปแลนด์ และประดารัฐริมทะเลบอลติกทั้งหลาย

ในอดีตที่ผ่านมา โอบามาได้เคยกระทำความผิดพลาดอันใหญ่โตเกี่ยวกับการวินิจฉัยตัดสินรัสเซียรวมแล้ว 3 ประการด้วยกัน อย่างแรกคือ เขายินยอมปล่อยให้สหรัฐฯเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศของรัสเซียต่อไป ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดคำนวณทางการเมืองในวังเครมลิม ให้หันมาอยู่ในทิศทางซึ่งจะเป็นการรับใช้ผลประโยชน์ในทั่วโลกของอเมริกา ถูกต้องทีเดียว สหรัฐฯนั้นเคยเป็นผู้บงการชักใยพวกชนชั้นนำของรัสเซีย และครั้งหนึ่งถึงกับเคยดำเนินแผนการเพื่อให้ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีรัสเซียอีกครั้งด้วยซ้ำ (ในปี 1996)

ทว่าโอบามาสมควรที่จะมองให้ออกว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อพิจารณาดูจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะอาศัยหลักเกณฑ์บรรทัดฐานอย่างไรก็ตามที ปูตินนั่นแหละคือผู้ที่ชนะได้รับอาณัติให้ขึ้นปกครองประเทศอย่างถูกต้องชอบธรรม และเขาคือนักการเมืองที่ได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนอย่างมากมายเป็นพิเศษอีกด้วย สหรัฐฯสามารถที่จะปล่อยให้รัสเซียดำเนินไปแนวทางเช่นนั้นโดยไม่เข้ายุ่งเกี่ยว เมื่อตอนที่ ปูติน ได้กลับคืนสู่วังเครมลินอีกครั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012 แต่แล้วโอบามากลับแต่งตั้ง ไมเคิล แมคฟาวล์ (Michael McFaul) ผู้เชี่ยวชาญในเรื่อง “การปฏิวัติสี” (color revolution การลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นระบอบปกครองในหลายประเทศที่เคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต ตลอดจนรัฐในแหลมบอลข่าน เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000 -ผู้แปล) ผู้โด่งดัง ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำรัสเซีย นี่คือการวินิจฉัยตัดสินอันผิดพลาดถึงขั้นหายนะ และเป็นการยั่วยุท้าทายที่ไม่มีความจำเป็นเลย

ประการที่สอง โอบามาประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของรัสเซียที่จะธำรงรักษากันชนตามแนวพรมแดนด้านตะวันตกของตนเอาไว้ โดยที่พรมแดนด้านตะวันตกนี้เองแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นเส้นทางที่รัสเซียจะถูกศัตรูเข้ารุกราน วอชิงตันนั้นเรียกได้ว่าบังคับกดดันให้ปูตินต้องจัดการกับแหลมไครเมียและยูเครนตะวันออกก่อนเวลาที่ผู้นำหมีขาวผู้นี้อยากจะกระทำ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการเลือกของปูตินเลย ในการก่อกระแสอย่างเกินเลยเพื่อทำให้ปูตินกลายเป็นปีศาจร้ายนั้น บ่อยครั้งมักมีการมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าปูตินเป็นผู้ที่ปรารถนาจะเป็นหุ้นส่วนกับโลกตะวันตก ทว่าต้องเป็นหุ้นส่วนในลักษณะที่เท่าเทียมกัน “ความอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดระดับไฮเปอร์” (hyper sensitivity) ของรัสเซียในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแก่การทำความเข้าใจเลย

ประการที่สาม โอบามาแสดงให้เห็นถึงความดื้อดึง จากการที่เขาปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ความมุ่งมาดปรารถนาอันชอบธรรมของรัสเซียที่จะมีฐานะเป็นมหาอำนาจระดับโลกรายหนึ่ง เขาก้าวไปไกลเกินกว่าประธานาธิบดีอเมริกันผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าเขาอีกก้าวหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็น บิลล์ คลินตัน และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช) และตั้งสมมุติฐานทึกทักขึ้นมาเองว่า สหรัฐฯสามารถที่จะจัดการรับมือกับประเด็นปัญหาระดับโลกทั้งหลาย ตลอดจนการสู้รบขัดแย้งในระดับภูมิภาคทั้งหลาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยที่ไม่ต้องอาศัย “การเข้ามีปฏิสัมพันธ์แบบคัดสรร” (selective engagement) กับรัสเซีย

บุรุษผู้มีความคิดอันหลักแหลมรอบรู้และมีสติปัญญาอันลึกซึ้งเฉกเช่นโอบามา ทำไมจึงทำความผิดพลาดได้ถึงขนาดนี้หนอ ? แน่นอนทีเดียว โอบามานั้นมีความคุ้นเคยกับการเมืองรัสเซียในระดับจำกัด และเขาปล่อยให้ตนเองถูกนำพาชักจูงโดย “มือทำงานด้านรัสเซีย” ผู้มีประสบการณ์สูงในแวดวงด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ทว่าคนเหล่านี้มักเป็นพวกที่ยังติดข้องอยู่กับแนวคิดการเมืองของยุคสงครามเย็น ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า ลงท้ายเขาก็กำลังดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียในลักษณะคล้ายคลึงยิ่งกับสิ่งที่ใช้อยู่ในคณะบริหารของบิลล์ คลินตัน ในตอนต้นทศวรรษ 1990

การดำเนินนโยบายเช่นนั้นได้รับการพิสูจน์จากความเป็นจริงว่า เสมือนกับการเดินไปบนถนนที่ไม่ทราบว่าจะนำไปไหน เนื่องจากรัสเซียที่ บิลล์ คลินตัน เคยสามารถหลอกลวงตบตา, ข่มเหงรังแก, และบงการปั่นหัวนั้น ไม่ดำรงคงอยู่ในทุกวันนี้แล้ว คำถามที่ยังคงคาใจอยู่ในเวลานี้มีอยู่ว่า โอบามามีความตั้งใจแน่วแน่ขนาดไหนที่จะตัดขาดจากทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งจะเป็นตัวนำไปสู่การล่มสลายในความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกันกับรัสเซีย

สัญญาณที่สำคัญและให้กำลังใจอย่างหนึ่งก็คือ ในคณะของเคร์รที่เดินทางไปยังโซชินั้น มีบุคคลที่ขาดหายไปอย่างผิดสังเกตมากผู้หนึ่ง ได้แก่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ผู้เป็นจอมบงการอยู่เบื้องหลัง “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” ในกรุงเคียฟเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น