xs
xsm
sm
md
lg

“ลุซ” นักวาดการ์ตูนหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดประกาศ “ลาออก” จากชาร์ลีเอ็บโด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรนัลด์ ลูซิเยร์ หรือ ลุซ นักวาดการ์ตูนดาวดังของนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด
เอเอฟพี - ศิลปินผู้วาดการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดขึ้นปกนิตยสาร “ชาร์ลีเอ็บโด” ฉบับหลังเหตุกราดยิงกองบรรณาธิการเมื่อเดือนมกราคม ประกาศจะ “ลาออก” ในเดือนกันยายนนี้ โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับแรงกดดันภายในบริษัท แต่เป็นเพราะไม่อาจทนทำงานต่อไปโดยปราศจากเพื่อนร่วมงานที่เสียชีวิต

เรนัลด์ ลูซิเยร์ หรือ “ลุซ” ซึ่งร่วมงานกับชาร์ลีเอ็บโดมาตั้งแต่ปี 1992 ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ลิเบอเรชันของฝรั่งเศสว่า การที่เขาตัดสินใจบอกลาชีวิตการทำงานกับนิตยสารเสียดสีฉบับนี้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า “เป็นทางเลือกส่วนตัว”

“กว่าผมจะทำงานออกมาได้แต่ละฉบับ รู้สึกทรมานมาก เพราะเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ไม่อยู่แล้ว... บางคืนผมนอนไม่หลับ เพราะมัวคิดแต่ว่าชาร์บ, คาบู, ออนอเร และ ทิกนูส์ น่าจะอยากให้งานออกมาอย่างไร มันเป็นอะไรที่เหนื่อยจริงๆ” ลุซ เอ่ยถึงเพื่อนร่วมงานที่จากไปเพราะคมกระสุนของคนร้ายเมื่อวันที่ 7 ม.ค.

นิตยสารเสียดสีจากเมืองน้ำหอมฉบับนี้ถูกมือปืนสองพี่น้องอิสลามิสต์บุกเข้าไปกราดยิงสำนักงานในกรุงปารีส จนมีผู้เสียชีวิต 12 คน เนื่องจากโกรธแค้นที่สื่อฉบับนี้มักตีพิมพ์รูปล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดที่ชาวมุสลิมเคารพเทิดทูน

ลุซ เป็นผู้ออกแบบปกชาร์ลีเอ็บโดฉบับ “ผู้รอดชีวิต” ซึ่งออกวางแผง 1 สัปดาห์หลังเหตุการณ์กราดยิง โดยวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดถือป้าย “ฉันคือชาร์ลี” พร้อมข้อความพาดหัวว่า “ให้อภัยหมดแล้ว”

ชาร์ลีเอ็บโดฉบับผู้รอดชีวิตทำยอดขายได้สูงถึง 8,000,000 ฉบับ ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดของนิตยสารที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศส แต่ทว่าปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลุซ กลับประกาศว่าจะไม่วาดภาพศาสดาของชาวมุสลิมอีกต่อไป เพราะ “ไม่ใช่สิ่งที่สนใจแล้ว”

เขาให้สัมภาษณ์ว่า เคยคิดอยากจะ “เลิก” มานานแล้ว แต่ฝืนทำต่อมาเรื่อยๆ “เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และไม่ให้ใครต้องผิดหวัง... จนมาถึงจุดหนึ่งซึ่งสุดที่จะทนอีกต่อไป”

การลาออกของ ลุซ ผู้เป็นดาวเด่นของนิตยสารในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาคาดว่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยต่อชาร์ลีเอ็บโด ซึ่งกำลังต้องการนักวาดการ์ตูนสายเลือดใหม่มาร่วมงานด้วย

โศกนาฏกรรมที่เกิดกับกองบรรณาธิการทำให้ชาร์ลีเอ็บโดได้รับกำลังใจล้นหลามจากทั่วโลกภายใต้สโลแกน “ฉันคือชาร์ลี” (je suis Charlie) และทำให้นิตยสารรายสัปดาห์ที่เคยทำรายได้แบบเดือนชนเดือนได้รับเงินบริจาคสนับสนุนหลายสิบล้านยูโร และได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม เงินบริจาคที่ได้มากลับทำให้ทีมงานเริ่มขัดแย้งกันเอง โดยพนักงานบางคนเห็นว่าการบริหารเงินไม่มีความโปร่งใสพอ

ทีมงาน 15 คนจากทั้งหมด 20 คน รวมถึง ลุซ ได้เรียกร้องเมื่อเดือนที่แล้วให้พนักงานถือหุ้นบริษัทอย่างเท่าเทียมกัน

ฝ่ายบริหารชาร์ลีเอ็บโดแถลงเมื่อวานนี้ (18) ว่า ยอดเงิน 4.3 ล้านยูโรที่ได้รับจากผู้บริจาค 36,000 คนใน 84 ประเทศ “จะถูกนำไปมอบแก่ครอบครัวทีมงานที่เสียชีวิตอย่างครบถ้วนเต็มจำนวน”


กำลังโหลดความคิดเห็น