xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ชี้ดินไหว 7.8 ทำ “กาฐมาณฑุ” เคลื่อนลงใต้ 3 เมตร-คาด “เอเวอเรสต์” ยังสูงเท่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รอยแยกขนาดใหญ่บนพื้นถนนชานกรุงกาฐมาณฑุ หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแแรงเมื่อวันเสาร์ที่่ผ่านมา (25 เม.ย.)
เอเอฟพี – เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ส่งผลให้แผ่นเปลือกโลกที่รองรับกรุงกาฐมาณฑุของเนปาลเคลื่อนไปทางทิศใต้ราว 3 เมตร แต่คาดว่าระดับความสูงของยอดเขา “เอเวอเรสต์” จะยังไม่เปลี่ยนแปลง นักวิทยาศาสตร์เผยวันนี้ (28 เม.ย.)

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์(25) ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดที่เนปาลต้องประสบในรอบกว่า 80 ปี ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดพุ่งเกินกว่า 4,300 คน และทำให้อาคารบ้านเรือนรวมถึงโบราณสถานเก่าแก่พังเสียหายอย่างหนัก

เจมส์ แจ็คสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีแปรสัณฐานจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชี้ว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากคลื่นเสียงซึ่งแผ่สะท้อนไปทั่วโลกหลังเกิดแผ่นดินไหว บ่งชี้ว่าแผ่นดินใต้กรุงกาฐมาณฑุอาจเคลื่อนที่ลงไปทางทิศใต้ราว 3 เมตร

ข้อมูลของ แจ็คสัน คล้ายกับผลวิเคราะห์ของ แซนดี สเตซี หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์กายภาพจากมหาวิทยาลัยแอดดิเลด ซึ่งระบุว่า “แผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะเกิดบริเวณรอยเลื่อนมุดตัวหิมาลัย (Himalayan Thrust Fault) ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างอนุทวีปอินเดียกับยูเรเชีย”

“รอยเลื่อนนี้มีมุมเทไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 10 องศา ซึ่งการเคลื่อนที่ตลอดแนวรอยเลื่อนน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3 เมตรเป็นอย่างมาก เหนือกาฐมาณฑุไปนิดเดียว”

รอยเลื่อนดังกล่าวอยู่ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น แผ่นหนึ่งรองรับอนุทวีปอินเดียซึ่งมีการเคลื่อนไปทางทิศเหนือเข้าหาแผ่นเอเชีย-ยุโรปด้วยอัตราเร็ว 2 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ให้กำเนิด “เทือกเขาหิมาลัย”
ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งมีความสูงถึง 8,848 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
มาร์ก แอลเลน อาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์โลก มหาวิทยาลัยเดอรัมในอังกฤษ อธิบายว่า ชั้นหินที่อยู่เหนือรอยเลื่อนมีการเคลื่อนที่ไปทางทิศใต้สวนกับชั้นหินที่อยู่เบื้องล่างลงไป ทำให้เปลือกโลกในบริเวณนี้มีลักษณะคดโค้งและหดสั้นลง (crustal shortening)

“พูดง่ายๆว่า กรุงกาฐมาณฑุเคลื่อนที่ไปจากเดิมประมาณ 3 เมตร” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลพอจะยืนยันได้ว่า การแปรสัณฐานทางธรณีครั้งนี้ใหญ่พอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อแผนที่โลกหรือไม่

แม้ตำแหน่งที่ตั้งของกรุงกาฐมาณฑุจะขยับไปจากเดิม แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายอดเขาสูงที่สุดในโลกอย่าง “เอเวอเรสต์” อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็ไม่กี่มิลลิเมตร เนื่องจากตัวเทือกเขาไม่ได้ตั้งอยู่เหนือรอยเลื่อนโดยตรง

“จุดเลื่อนไถล (slip) อยู่ทางตะวันตกของเอเวอเรสต์ ภูเขาลูกนี้ไม่ได้อยู่เหนือรอยเลื่อนโดยตรง... นอกจากนี้ มุมเทของรอยเลื่อนก็ค่อนข้างตื้น ดังนั้นการเคลื่อนที่ในแนวระนาบเพียง 3 เมตรไม่น่าจะกระทบต่อระยะทางในแนวดิ่งมากนัก” สเตซี กล่าว

แอลเลน เห็นด้วยในประเด็นนี้ แต่เสริมว่า “อาจมีผลกระทบบ้าง ถ้าหิมะที่ปกคลุมบริเวณยอดเขาถล่มลงมา”

เอียน เมน อาจารย์ด้านแผ่นดินไหววิทยาและฟิสิกส์หินจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ชี้ว่า อาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันเสาร์(25) ทำให้เกิดหิมะถล่มลงมาคร่าชีวิตนักปีนเขาอย่างน้อย 18 คนที่เบสแคมป์ของยอดเอเวอเรสต์ ซึ่งตั้งตระหง่านเสียดฟ้าด้วยความสูงถึง 8,848 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนให้ประชาชนแถบนั้นระวังอันตรายจากอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งอาจเกิดต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน









กำลังโหลดความคิดเห็น