รอยเตอร์ – เสถียรภาพของอังกฤษจะถูกคุกคามหากรัฐบาลพรรคเลเบอร์ในอนาคตทำข้อตกลงกับพวกชาตินิยมสก๊อตแลนด์ ข้อความในคำปราศรัยที่ จอห์น เมเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีพรรคคอนเซอร์เวทีฟของประเทศนี้ จะออกมากล่าวในวันนี้ (21) ระบุ และชี้ว่า “ความโกลาหล” และการแบลคเมลทางการเมืองจะเกิดขึ้นตามมา
การแทรกแซงของ เมเจอร์ ในครั้งนี้มีขึ้นก่อนหน้าศึกเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งทั้งพรรคคอนเซอร์เวทีฟและพรรคเบอร์ต่างถูกคาดว่าจะไม่ได้ครองเสียงส่วนใหญ่อย่างขาดลอย ก่อให้เกิดโอกาสที่จะมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคเลเบอร์และพรรคการเมืองแห่งชาติสก๊อตแลนด์ (เอสเอ็นพี) ที่ต้องการให้สก๊อตแลนด์แยกตัวจากสหราชอาณาจักร
“นี่เป็นสูตรสำหรับความโกลาหล” เมเจอร์ จะกล่าว ในการแทรกแซงอย่างมีนัยสำคัญครั้งแรกของเขาในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งนี้อ้างจากข้อความส่วนหนึ่งในเนื้อหาคำปราศรัยของเขา
“ในช่วงเวลา ณ ตอนนี้ ประเทศของเราจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งและมั่นคง เราเสี่ยงต่อการมีรัฐบาลที่อ่อนแอและไม่มั่นคง ซึ่งจะถูกพันธมิตรของพวกเขาผลักดันสู่ฝ่ายซ้าย และเปิดให้กับการแบลคเมลทางการเมืองรายวัน”
พรรคเอสเอ็นพีได้กลับมาผงาดอีกครั้งหลังจากเป็นผู้นำความพยายามประกาศเอกราชที่ล้มเหลวเมื่อปีที่แล้ว และอยู่บนเส้นทางสู่การขจัดพรรคเลเบอร์ในสก๊อตแลนด์ออกไป พรรคนี้ ซึ่งคาดว่าจะกลับขึ้นมาในฐานะพรรคที่ครองเก้าอี้ในสภามากเป็นอันดับ 3 คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้เพื่อครองสมดุลแห่งอำนาจภายหลังการเลือกตั้ง
นิโคลา สเตอร์เจียน หัวหน้าพรรคเอสเอ็นพี เคยกล่าวไว้ว่า เธอสามารถทำงานร่วมกับพรรคเลเบอร์บนพื้นฐานที่ไม่เป็นทางการได้ แต่ประกาศว่าจะไม่มีทางเจรจาทำข้อตกลงกับนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่างเด็ดขาด
คาเมรอน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (19) ว่า เขากำลังขอคำแนะนำจาก เมเจอร์ ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนสุดท้าย เพื่อให้ได้เสียงส่วนมากอย่างขาดลอย เมื่อปี 1992 เมเจอร์ เคยคว้าชัยชนะเหนือพรรคเลเบอร์ที่พกพาความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมได้อย่างน่าตกตะลึง
“พรรคเลเบอร์จะเป็นหนี้พรรคการเมืองที่จะผลักดันพวกเขาสู่ฝ่ายซ้ายยิ่งกว่าที่เคยเป็น” ข้อความในคำปราศรัยของ เมเจอร์ ระบุ และเตือนว่า เอ็ด มิลิแบนด์ หัวหน้าพรรคเลเบอร์ จะต้องเสียสละผลประโยชน์ของสหราชอาณาจัการส่วนที่เหลือเพื่อรักษาแรงสนับสนุนของ สเตอร์เจียน
สมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟบางคนไม่สบายใจกับกลยุทธการพูดถึงเรื่องภัยคุกคามจากพรรคเอสเอ็นพีเพื่อชักจูงผู้ลงคะแนนเสียงของพรรคพวกเขา ด้วยกลัวว่าการทำเช่นนี้เสี่ยงจะเติมเชื้อไฟให้กับลัทธิชาตินิยมอังกฤษ และทำลายกลุ่มพันธมิตรข้ามพรรคที่ต่อต้านพรรคเอสเอ็นพี