รอยเตอร์ - เอ็ด มิลิแบนด์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ฝ่ายค้าน ประกาศลาออกในวันศุกร์(8พ.ค.) หลังพรรคแรงงานของเขาประสบความพ่ายแพ้อย่างราบคาบในศึกเลือกตั้งและสูญเสียเก้าอี้ในสกอตแลนด์เกือบหมด ขณะที่ในฝ่ายผู้ชนะนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน เดินทางไปเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อรับอาณัติในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว
มิลิแบนด์ เข้าสู่การเลือกตั้งในวันพฤหัสบดี(7พ.ค.) ท่ามกลางความคาดหมายว่าเขามีโอกาสดีที่จะเอาชนะพรรคคอนเซอร์เวทีฟของนายคาเมรอนและได้จัดตั้งรัฐบาล บางทีอาจเป็นในรูปแบบจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วกลับเป็นนายคาเมรอนที่ได้นั่งเก้าอี้อีกสมัย แถมยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกด้วย
"อังกฤษจำเป็นต้องมีพรรคเลเบอร์ที่ผ่านการฟื้นฟูหลังประสบความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เพื่อเราจะสามารถมีรัฐบาลที่ยืนหยุดเพื่อคนทำงานอีกครั้ง" นายมิลิแบนด์บอก ณ ที่ทำการใหญ่พรรรคในลอนดอน "และตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่ใครบางคนจะรับหน้าที่เป็นผู้นำพาพรรคก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นผมจึงขอลาออก" อย่างไรก็ตามเขายังเป็นสมาชิกพรรคเลเบอร์ในรัฐสภา ขณะที่นางแฮร์เรียต ฮาร์มัน รองหัวหน้าพรรคจะขึ้นรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกผู้นำคนใหม่
พรรคเลเบอร์ประสบความปราชัยอย่างย่อยยับในสกอตแลนด์ หลังได้รับเลือกตั้งแค่คนเดียว จากที่เคยได้ถึง 41 ที่นั่งในศึกเลือกตั้งหนก่อนหน้านี้ โดยทั้งหมดสูญเสียเก้าอี้ให้แก่พรรค สก็อตติช เนชันแนล ปาร์ตี (เอสเอ็นพี) ซึ่งชูนโยบายแยกตัวจากสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้แล้วพรรคเลเบอร์ ยังล้มเหลวในการแย่งเก้าอี้ที่ชิงชัยกันอย่างสูสีในอังกฤษจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และปล่อยให้พรรคของนายเดวิด คาเมรอน จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หลังจากสมัยที่แล้วช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคลิเบอรัล เดโมแครตส์ โดยนายมิลิแบนด์ บอกว่าเขาคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียว หลังต้องพบเห็นนักการเมืองระดับอาวุโสบางคนของพรรคต้องกระเด็นตกเก้าอี้
ความเคลื่อนไหวของนายมิลิแบนด์ มีขึ้นในขณะที่นายเดวิด คาเมรอน เดินทางไปเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อรับอาณัติในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วในวันศุกร์(8พ.ค.) จากนั้นเขาและภรรยาก็เดินทางกลับไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ถนนดาวนิ่ง ท่ามกลางการตั้งแถวปรบมือต้อบรับของเหล่าเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบ
แม้ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ก็คงมีเค้ารางแห่งความไม่แน่นอนในระยะยาวต่อคำถามที่ว่าอังกฤษจะยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่ ด้วยนายคาเมรอน ย้ำถึงคำสัญญาจัดประชามติให้ประชาชนตัดสินว่าจะยังต้องการอยู่ในอียูต่อไปหรือเปล่า
ชัยชนะครั้งนี้ถือว่าเกินกว่าที่ทางพรรคคอนเซอร์เวทีฟคาดหมายไว้ ขณะที่นายคาเมรอนเร่ขอคะแนนจากมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นผู้ช่วยเหลืออังกฤษจากวิกฤตเศรษฐกิจและส่งมอบสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งเคียงข้างเศรษฐกิจหลักอื่นๆ พร้อมเตือนว่าพรรคเลเบอร์ของนายมิลิแบรด์จะทำให้สหราชอาณาจักรทุพพลภาพ ด้วยมอบกุญแจหีบสมบัติของอังกฤษแก่พวกชาตินิยมสกอตแลนด์
ใขณะที่เหลือเก้าอี้เพียง 1 เดียวจากทั้งหมด 650 ที่นั่งรัฐสภาที่ยังไม่มีการประกาศผล พรรคคอนเซอร์เวทีฟ กวาดไปทั้งหมด 330 ที่นั่งและพรรคเลเบอร์ได้ 232 ที่นั่ง ส่วนพรรคลิเบอรัล เดโมแครตส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรในรัฐบาลของนายคาเมรอนมาตั้งแต่ปี 2010 เก้าอี้หดหายไปเกือบหมด โดยได้แค่ 8 ที่นั่งจากทั้งหมดที่เคยทำได้ถึง 57 ที่นั่งจากศึกเลือกตั้งคราวก่อน ขณะที่พรรคสก็อตติช เนชันแนล ปาร์ตี กวาดเก้าอี้ของสก็อตแลนด์ ได้ 56 จากทั้งหมด 59 ที่นั่ง ทั้งที่เมื่อ 5 ปีก่อน ได้รับเลือกแค่ 6 ที่นั่งเท่านั้น
ผลเลือกตั้งทำให้เงินปอนด์สเตอร์ลิง แข็งค่าขึ้นมากกว่า 2 เซนต์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขยับขึ้นเหนือ 1.55 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนดัชนี FTSE 100 ดีดขึ้นถึงร้อยละ 1.45 อยู่ที่ราวๆ 6985 จุด แกว่งตัวใกล้ๆระดับสูงสุดตลอดกาลที่ทำเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้ว ส่วนราคาพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษก็ขยับขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามชัยชนะของนายคาเมรอน หมายความว่าชาวอังกฤษจะต้องเผชิญกับการลงประชามติแยกตัวจากอียู แม้เขาบอกว่าต้องการอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป แต่นั่นก็ต่อเมื่อเขาสามารถรื้อฟื้นการเจรจาด้านความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับบรัสเซลส์ขึ้นมาใหม่
ส่วนในสก็อตแลนด์ ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพวกชาตินิยม ได้ก่อคำถามรอบว่าเกี่ยวกับอนาคตของสหราชอาณาจักร ทั้งที่ชาวสก็อตแลนด์ เพิ่งประชามติเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไปไม่ถึงปี