เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันโลกในวันอังคาร (14 เม.ย.) ขยับขึ้น 4 วันติด หลังคาดกำลังผลิตน้ำมันชั้นหินสหรัฐฯ ลดลง ปัจจัยนี้รวมกับรายงานผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ที่ไม่ย่ำแย่นัก ส่งผลให้วอลล์สตรีทปิดในกรอบแคบๆ ขณะที่ทองคำปรับลดจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.38 ดอลลาร์ ปิดที่ 53.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 50 เซ็นต์ ปิดที่ 58.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า กำลังการผลิตน้ำมันชั้นหินใน 7 เขตของประเทศ ซึ่งเป็นตัวทำให้กำลังผลิตน้ำมันดิบของประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีแนวโน้มจะลดลง 57,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นครั้งแรกที่ลดลงนับตั้งแต่เริ่มต้นรายงานการขุดเจาะรายเดือนในปี 2013
อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซแบงก์ย้ำว่า แนวโน้มดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อบริบทของภาวะอุปทานล้นตลาดในปัจจุบันที่ฉุดให้ราคาน้ำมันร่วงลงราวร้อยละ 50 นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันอังคาร (14 เม.ย.) ดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ปิดบวก จากแรงหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะที่รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของหลายบริษัทก็ออกมาไม่เลวร้ายอย่างคาดหมาย ท่่ามกลางความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 59.66 จุด (0.33 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 18,036.70 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 3.41 จุด (0.16 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,095.84 จุด แนสแดค ลดลง 10.96 จุด (0.22 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,977.29 จุด
หุ้นของเอ็กซอนโมบิล เชฟรอน และบริษัทพลังงานอื่นๆ ขยับขึ้นกันถ้วนหน้า หลังราคาน้ำมันปิดบวกในวันอังคาร (14 เม.ย.) โดยดัชนีพลังงานเอสแอนด์พี 500 ทะยานขึ้นร้อยละ 1.77
ด้วยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันถูกลงและสภาพอากาศเลวร้ายปกคลุมภาคตะวันออกของสหรัฐฯในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนพร้อมรับมือกับผลประกอบการไตรมาสแรกที่ยากลำบากของบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าด้วยที่มีความคาดหมายในระดับต่ำ ทำให้บริษัททั้งหลายสามารถสร้างความประทับใจแก่นักลงทุนได้ง่าย แม้ผลประกอบการจะไม่สวยหรูก็ตาม
ส่วนราคาทองคำเมื่อวันอังคาร (14 เม.ย.) ปรับลดพอสมควร จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ แต่หลักๆแล้วก็ยังเป็นผลจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 6.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,192.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์