รอยเตอร์ – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร แห่งคิวบา จับมือทักทายกันฉันมิตร ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตที่ปานามาวานนี้ (10 เม.ย.) ซึ่งนับเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เริ่มอบอุ่นระหว่าง 2 ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
สื่อทั่วโลกเผยแพร่ภาพ โอบามา และคาสโตร ในชุดสูทสีเข้ม กำลังยืนสนทนาอยู่กับผู้นำชาติอื่นๆ ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำแห่งอเมริกาครั้งที่ 7 (Summit of the Americas) ณ กรุงปานามาซิตี โดยมีคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวว่า ผู้นำทั้งสองได้จับมือทักทายและพูดคุยกันเล็กน้อย
“ทั้งสองท่านเพียงแต่พูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ ยังไม่มีประเด็นหารือที่สำคัญใดๆ” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผย
ทั้งนี้ คาดว่า โอบามา และคาสโตร จะมีโอกาสพูดคุยกันอีกครั้งในวันนี้ (11) โดยประเด็นสนทนาหลักๆ ก็คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ตลอดจนการส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสหรัฐฯ และคิวบา
โอบามา และคาสโตร สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก หลังประกาศถ้อยแถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมปีที่แล้วว่า สหรัฐฯ และคิวบาซึ่งเป็นอริกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจะกลับมาเชื่อมความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นไปในปี 1961
“แม้สหรัฐฯ และคิวบาจะก้าวสู่ขั้นตอนของการฟื้นความสัมพันธ์สู่ระดับปกติ แต่รัฐบาลของเราทั้งสองก็ยังมีแนวนโยบายที่ต่างกันในหลายๆ เรื่อง เช่นเดียวกับที่บางครั้งสหรัฐฯ ก็เห็นต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในทวีปอเมริกา หรือแม้กระทั่งชาติพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของเรา” ผู้นำสหรัฐฯให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (10)
โอบามา วัย 53 ปี ซึ่งเกิดไม่ทันยุคที่ ฟิเดล คาสโตร และ ราอูล คาสโตร ผู้เป็นน้องทำการปฏิวัติสังคมนิยมในคิวบาเมื่อปี 1959 ระบุด้วยว่า สหรัฐฯไม่ต้องการบีบบังคับเพื่อนบ้านในละตินอเมริกาอีกต่อไป
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกยุคสมัยได้แต่เพียงพบปะผู้นำคิวบาแบบผิวเผิน 2-3 ครั้ง แต่ไม่เคยหารือร่วมกันอย่างจริงจัง นับตั้งแต่สองพี่น้องคาสโตรได้โค่นล้มประธานาธิบดี ฟุลเคนซิโอ บาติสตา อดีตผู้นำเผด็จการคิวบา และนำประเทศเข้าสู่ระบอบสังคมนิยมที่ผูกพันใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต
ประธานาธิบดี ฆวน มานูเอล ซานโตส แห่งโคลอมเบีย กล่าวชื่นชม โอบามา ที่ตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบา และชี้ว่าจะเป็นยารักษา “บาดแผลพุพอง” ที่บั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคมานาน
อย่างไรก็ดี กิลเลอร์โม ฟารินาส นักเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ชี้ว่ากลุ่มพลเมืองในคิวบาไม่ยอมเข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้ พร้อมวิงวอนให้ โอบามา สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพวกเขา
วอชิงตันประกาศคว่ำบาตรการค้าต่อคิวบาตั้งแต่ปี 1960 และตัดความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1961 แต่มาตรการกดดันทั้งหมดกลับไม่ได้ผลอย่างที่สหรัฐฯ คาดคิด
“นโยบายที่เรามีต่อคิวบา แทนที่จะโดดเดี่ยวพวกเขา แต่กลับทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวเสียเองจากหลังบ้านของเราแท้ๆ” เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของโอบามา กล่าว
ทั้ง 2 ประเทศยังมีการติดต่อสัมพันธ์ผ่านสำนักงานผลประโยชน์ในกรุงฮาวานาและวอชิงตันมาตั้งแต่ปี 1977 และช่วงไม่กี่ปีมานี้ยังเพิ่มความร่วมมือทั้งในด้านผู้อพยพ และการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แนะให้รัฐบาลถอนคิวบาออกจากรายชื่อประเทศที่สนับสนุนก่อการร้าย ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดี โอบามา จะอนุมัติตามนั้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการประกาศออกมาระหว่างการประชุมซัมมิตที่ปานามาหรือไม่