เอเอฟพี/รอยเตอร์ - พวกกองกำลังอาสาสมัครในความควบคุมของรัฐบาลอิรักที่ใช้ชื่อว่า "หน่วยปลุกระดมประชาชน" ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจู่โจมยึดคืนเมืองติกริตจากไอเอส ระงับเข้าร่วมปฏิบัติการชั่วคราว หลังสหรัฐฯมีเอี่ยวโจมตีทางอากาศ ท่ามกลางข้อครหาว่าวอชิงตันโผล่เข้ามาแย่งชัยชนะ
กองกำลังติดอาวุธชีอะห์ใช้ชื่อในภาษาอาหรับว่า "ฮาชิด ชาอาบี" ส่งเสียงคัดค้านครั้งแล้วครั้งเล่าต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มปฏฺิบัติการโจมตีทางอากาศต่อนักรบรัฐอิสลาม(ไอเอส) ในติกริตครั้งแรกเมื่อวันพุธ(25มี.ค.)ที่ผ่านมา
เหล่าผู้บัญชาการหลายคนของกองกำลังบาดร์ ซึ่งแกนนำอย่างนายฮาดี อัล-อาเมรี เป็นบุคคลระดับอาวุโสในฮาชิด ชาอาบี บอกว่าทางกลุ่มกำลังจะถอนกำลังพลกลับ แต่ยังไม่ถึงขั้นถอนตัวจากปฏิบัติการโดยสิ้นเชิง "เราพิจารณาหยุดพัก จนกว่าประเด็นพันธมิตรจะคลี่คลาย" ผู้บัญชาการคนหนึ่งบอกกับเอเอฟพี
ฮาชิด ชาอาบี เข้าร่วมกับตำรวจ ทหารอิรักและกองกำลังพันธมิตร ปฏิบัติการครั้งใหญ่ยึดคืนเมืองติกริตจากนักรบรัฐอิสลาม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ขณะที่ผู้บัญชาการของกองกำลังบาดร์อีกคนก็ยืนยันถึงการถอนกำลังพล โดยอ้างว่าเป็นผลจากแรงกดดันของนานาชาติ
ปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จในการยืดคืนเมืองต่างๆ ที่มุ่งสู่ติกริตและล้อมกรอบนักรบญิฮัดหลายร้อยคนในเมือง แต่การเข้าควบคุมติกริตนั้นดำเนินการยากลำบากกว่า เพราะว่าไอเอสวางแผนรับมือด้วยการวางระเบิดจำนวนมากไว้บนท้องถนนและตามอาคารต่างๆ ทั้งนี้ด้วยปฏิบัติการที่มีอันต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลอิรักต้องร้องขอพันธมิตรนานาชาติต่อต้านไอเอสที่นำโดยสหรัฐฯช่วยฝ่าทางตันดังกล่าว
แม้สหรัฐฯและพันธมิตรได้ดำเนินการโจมตีทางอากาศในพื้นที่อื่นๆของอิรัก แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอิรักไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือจากอเมริกาต่อปฏิบัติการยึดคืนเมืองติกริต โดยภารกิจนี้กลายเป็นอิหร่านที่มีบทบาทสำคัญแทน ไม่ว่าจะเป็นมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และประจำการคณะที่ปรึกษาแก่พวกกองกำลังติดอาวุธชีอะห์ ที่เข้าร่วมสมรภูมิรบนี้
สหรัฐฯวางเงื่อนไขในการเข้าแทรกแซงคือการเพิ่มบทบาทแก่กองกำลังรัฐบาลอิรักและเผยเมื่อวันพฤหัสบดี(26มี.ค.) ว่าพวกกองกำลังอาสาสมัครเริ่มถอนตัวแล้ว
ความเคลื่อนไหวของอเมริกา ก่อความขุ่นเคืองแก่พวกนักรบชีอะห์บางส่วน ซึ่งแบกรับภาระอันหนักอึ้งของภารกิจส่วนใหญ่มาโดยตลอด และพวกเขากล่าวหาวอชิงตันว่ากำลังแย่งชัยชนะ ด้วยการเพิ่งส่งเครื่องบินรบเข้ามา ทั้งที่ปฏิบัติการนี้ดำเนินการมานานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพวกนักรบอิรักทั้งหมดรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่ แต่เหล่าผู้บัญชาการหลายคนของกองกำลังบาดร์ บอกว่าส่วนใหญ่คิดแบบนั้น