xs
xsm
sm
md
lg

ซวยละซี! IMF เล็งใช้ “แผน B” หั่นอำนาจโหวตสหรัฐฯ ลงเกือบครึ่ง-เอือมเป็นก้างขวางปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - หลังจากถูกสหรัฐฯ คัดค้านแผนปฏิรูปโควตาการออกเสียงของชาติสมาชิกมานานหลายปี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงเริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการ “หั่นอำนาจโหวต” ของวอชิงตันในสถาบันปล่อยกู้แห่งนี้ลงเกือบครึ่ง

การเจรจา “แผน B” เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมา หลังจากที่บอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟเริ่มจะถอดใจกับความดื้อดึงของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ซึ่งไม่ยอมลงมติรับรองแผนปฏิรูปไอเอ็มเอฟฉบับปี 2010 ทั้งที่ทำเนียบขาวก็สนับสนุนเป็นอย่างดี

แผนปฏิรูปมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโควตาการออกเสียงของสมาชิกในบอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟ โดยจะเพิ่มที่นั่งให้แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตลอดจนเพิ่มโควตาหรือแหล่งทุนที่ธนาคารจะใช้ปล่อยกู้ให้แก่ประเทศที่เผชิญวิกฤตการเงินเป็น 2 เท่า

เปาลู โนกูเอรา บาติสตา กรรมการบริหารไอเอ็มเอฟจากบราซิล เสนอให้ตัดความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบ 2 ส่วนนี้ เพื่อให้แผนปฏิรูปเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรสสหรัฐฯ

“ความเชื่อมโยงระหว่างสองส่วนนี้ไม่จำเป็นเลย เพราะแต่ละส่วนก็มีวัตถุประสงค์ต่างกัน และสามารถดำเนินการแยกกันได้ ถ้าตัดความเชื่อมโยงเราก็เพียงแต่ขอแรงสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ไม่จำเป็นต้องรอให้สภาคองเกรสรับรอง” บาติสตา เสนอ

“นี่เป็นข้อเสนอที่สร้างสรรค์ ง่ายดาย และจะช่วยให้กระบวนการปฏิรูปไอเอ็มเอฟเดินหน้าต่อไปได้”

แนวทางที่บราซิลเสนอจะช่วยผลักดันแผนปฏิรูปขั้นต้น ซึ่งก็คือการเพิ่มที่นั่งในบอร์ดบริหารไอเอ็มเอฟซึ่งมีอยู่ 24 ที่นั่งให้แก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และไปลดสัดส่วนของยุโรปลง ซึ่งประเด็นนี้ทำเนียบขาวเห็นด้วยมานานแล้ว ติดขัดอยู่ที่สภาคองเกรสไม่ให้การรับรอง ส่วนการเพิ่มแหล่งทุนอีกเท่าตัวก็สามารถดำเนินการแยกต่างหาก เพื่อช่วยให้ไอเอ็มเอฟลดการพึ่งพาทุนกู้ยืม (borrowed funds) อย่างที่เป็นมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008

กระบวนการดังกล่าวจะส่งผลให้อำนาจต่อรองของสหรัฐฯ ในไอเอ็มเอฟลดลงเกือบครึ่ง นับตั้งแต่สถาบันปล่อยกู้แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1945

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเงินทุนที่อุดหนุนให้ไอเอ็มเอฟจะเป็นตัวกำหนดโควตาการลงคะแนนของแต่ละประเทศ หากสภาคองเกรสยังไม่ให้การรับรองแผนปฏิรูปปี 2010 โควตาออกเสียง 17.7 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐฯ จะลดลงเหลือเพียง 9.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อทำตามแผนของ บาติสตา

ตัวเลขที่ลดลงนี้มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการตัดสินใจของไอเอ็มเอฟจะต้องได้รับเสียงโหวตร้อยละ 85 จากประเทศสมาชิก ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ซึ่งมีโควตาออกเสียงอยู่ 17.7 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นเพียงชาติเดียวที่สามารถ “วีโต” มติไอเอ็มเอฟได้

บาติสตา เสนอให้มีการทำข้อตกลง เพื่อให้เวลาสภาคองเกรสในการตัดสินใจรับรองแผนเพิ่มแหล่งทุนเสริมความแข็งแกร่งแก่ไอเอ็มเอฟ ซึ่งจะช่วยให้วอชิงตันยังรักษาอำนาจวีโตเอาไว้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น