xs
xsm
sm
md
lg

เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุด มิ.ย.นี้ ตั้งท่าขยับแน่ๆ-แต่ก็มอง ศก.โตช้าลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นักลงทุนในวอลล์สตรีท จับจ้องคำแถลงของเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบาย
เอเจนซีส์ - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันพุธ (18 มี.ค.) ทิ้งคำรับรองที่จะใช้ “ความอดทน” ในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ก็ระบุว่าภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาแผ่วไปจากเมื่อสามเดือนที่แล้ว และหากจะถอนตัวจากมาตรการต้านวิกฤตก็จะต้องระมัดระวังอย่างมาก งานนี้เลยมีการตีความกันว่า เฟดจะเริ่มต้นมาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ยืนอยู่ใกล้ 0% มากว่า 6 ปีแล้ว อย่างเร็วที่สุดคือในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เดือนมิถุนายนนี้ แต่ที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือในเดือนกันยายน อีกทั้งหลังจากนั้นก็จะขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หลังเสร็จสิ้นการประชุม 2 วันเมื่อวันพุธ (18) เอฟโอเอ็มซีออกคำแถลงโดยคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ว่า อัตราเติบโตจะอยู่ที่ 2.3-2.7% และปรับลดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อลงอยู่ที่ 0.6-0.8% พร้อมระบุว่า การเติบโตอยู่ในระดับพอประมาณ ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำที่มองการณ์ในทางแย่ลง เมื่อเปรียบเทียบกับคำแถลงหลังการประชุมเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาที่ระบุว่า เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมั่นคง

ในคำแถลงที่ออกมาหลังประชุมวันพุธคราวนี้ เฟดยังตัดวลีที่ว่า “สามารถที่จะใช้ความอดทน” ในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งปรากฏอยู่ในคำแถลงครั้งก่อนๆ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมแถลงข่าวถัดจากการออกคำแถลง เจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ได้ชี้แจงว่า การตัดวลีดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่า เอฟโอเอ็มซีจะรีบร้อนดำเนินการใดๆ หรือมีการตัดสินใจกำหนดเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

เยลเลนยังตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ตลาดแรงงานเข้มแข็งขึ้นและอัตราว่างงานลดลงอยู่ที่ 5.5% แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับลดลง และภาคที่อยู่อาศัยอยู่ในภาวะซบเซา ขณะที่เงินเฟ้อทำท่าลดลงมากกว่าขยับขึ้น อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่ดิ่งลง ด้านค่าแรงก็หยุดนิ่ง ส่วนดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็กำลังทำร้ายภาคส่งออกของสหรัฐฯ

เธอระบุว่า มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดหลายๆ คน คือ ผลตกค้างจากวิกฤตการเงินปี 2008 ยังคงมีแนวโน้มบีบคั้นการใช้จ่าย ตลอดจนยังคงสร้างความลำบากให้แก่การหาสินเชื่อ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

จากการที่เฟดออกมาเน้นย้ำความระมัดระวัง ทั้งที่ยิ่งขยับเข้าใกล้การเริ่มต้นนโยบายขึ้นดอกเบี้ยเช่นนี้ ได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลของตลาดทั่วโลกที่คาดหมายดว่า ธนาคารสหรัฐฯจะยืนกรานใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวกว่านี้

สัปดาห์นี้ ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และองค์การเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ต่างเตือนว่า หากเฟดลุกขึ้นมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างแข็งขันแล้ว ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนเปลี้ยลง

ทั้งนี้ มีการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า เอฟโอเอ็มซีจะตัดวลี “สามารถที่จะใช้ความอดทน” ออกจากคำแถลง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยแล้ว

ก่อนหน้านี้ เยลเลนก็ได้เคยย้ำหลายครั้งว่า การยกเลิกวลีดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในการประชุมเอฟโอเอ็มซีอย่างน้อยสองครั้งถัดไป ด้วยเหตุนี้เอง คำแถลงฉบับล่าสุดนี้จึงตีความได้ว่า ฤกษ์งามอย่างดีอย่างเร็วที่สุดที่เฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นเดือนมิถุนายน

คำแถลงล่าสุดนี้ยังตอกย้ำสัญญาณดังกล่าว ด้วยการระบุว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเอฟโอเอ็มซีครั้งต่อไปในเดือนหน้าอย่างแน่นอน แต่ไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมนัดถัดจากนั้น และเยลเลนบอกเพียงว่า กำหนดเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยจะต้องขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูลในอนาคต

ทางด้าน คริส โลว์ แห่ง เอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล ให้ความเห็นว่า เยลเลนตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นถ้ามีการปรับใช้นโยบายคุมเข้มช้าเกินไป โดยเฉพาะในแง่การควบคุมเงินเฟ้อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ย เอฟโอเอ็มซีก็ต้องการเห็นตลาดแรงงานอยู่ในสภาพซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งอยากจะได้รับความมั่นใจก่อนว่า เงินเฟ้อจะกลับขยับขึ้นสู่เป้าหมายที่ 2% ในระยะกลาง

ขณะที่ แจน แฮตเซียส นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ตีความคำแถลงของเฟดว่า การขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในการประชุมเอฟโอเอ็มซีเดือนกันยายน มากกว่าในเดือนมิถุนายน

ส่วน เคร็ก ดิสมิวค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไวนิง สปาร์กส์ ขานรับว่า เดือนกันยายนมีแนวโน้มสูงสุดสำหรับการเริ่มต้นขึ้นดอกเบี้ย และตลอดปีนี้น่าจะขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือไม่เกิน 2 ครั้ง

เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “เฟด ฟันด์ส เรต” อยู่ใกล้ๆ 0% มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008 ส่วนการขยับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายนั้น เฟดกระทำเมื่อเดือนมิถุนายน 2006 ตอนที่ตลาดที่อยู่อาศัยกำลังฟูฟ่องและเศรษฐกิจเติบโตเข้มแข็ง กระทั่งเฟดมั่นใจประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยที่ 5.25%

จากแนวโน้มที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นนี้ กลายเป็นแรงหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ในวันพุธ ให้พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับดัชนีราคาของตลาดหุ้น ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง


กำลังโหลดความคิดเห็น