บีบีซี - ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่บนเกาะโมโซ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของวานูอาตู ต้องกล้ำกลืนดื่มน้ำทะเลเพื่อประทังชีวิต นับตั้งแต่ถูกพายุไซโคลนซัดถล่มเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เหล่าผู้ประสบภัยกำลังเฝ้าความช่วยเหลือจากโลกภายนอก
ในขณะที่หน่วยงานบรรเทาภัยกำลังตะเกียกตะกายเข้าถึงบรรดาเกาะชั้นนอกของประเทศเล็กๆ แห่งนี้ แต่ภาวะน้ำท่วมก็เป็นอุปสรรคขัดขวางการลงจอดของเครื่องบินบรรเทาทุกข์ในบางพื้นที่
นักบินคนหนึ่งเล่าว่าภูมิประเทศที่เคยเขียวขจีได้เปลี่ยนไปแล้วและตอนนี้ดูราวยังกับว่ามันถูกเผาผลาญจากไฟป่ามรณะเลยทีเดียว ขณะที่เจ้าหน้าที่เผยว่านอกเหนือจากปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มแล้ว อาหาร และที่พักพิงชั่วคราวก็ไม่เพียงพอเช่นกัน เนื่องจากเวลานี้มีประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยหลายหมื่นคน
สำหรับมนุษย์ นอกจากไม่ช่วยแก้กระหายแล้ว น้ำทะเลที่ดื่มเข้าไปในร่างกายนั้นยังเป็นอันตรายด้วย เพราะมันจะทำให้น้ำที่มีอยู่ในร่างกายเดิมจะถูกดูดออกมา เพื่อกำจัดเกลือซึ่งเป็นส่วนเกินที่ร่างกายรับเข้าไป
สหประชาชาติปรับลดยอดผู้เสียชีวิตจาก 24 เหลือแค่ 11 คน โดยตัวเลขเหยื่อที่ต่ำเช่นนี้เป็นผลจากการประกาศเตือนภัยล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม 4 วันมาแล้วหลังจากถูกไซโคลนถล่ม องค์กรและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆ บอกว่า พื้นที่รอบนอกของวานูอาตูที่โดนพายุแพมเล่นงาน ได้รับความเสียหายมากกว่าในตัวพอร์ตวิลลา เมืองหลวงของประเทศ
นายกรัฐมนตรี โจ นาตูมัน ยอมรับกับบีบีซีว่า ขอบเขตความเสียหายตามเกาะต่างๆ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด พร้อมเผยว่าเกาะแทนนา และ เอฟาเต ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด “เกาะอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นอะไรมากนัก”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ลงพื้นที่ประสบภัยบอกว่าน่าจะมีที่พักอาศัยมากกว่า 60 หลัง ที่ยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยผู้สื่อข่าวบีบีซี ระบุว่า พวกเขาเดินทางโดยเรือไปยังเมืองโมโซ ซึ่งนับเป็นผู้มาเยือนชุดแรกนับตั้งแต่พายุไซโคลนพัดถล่ม และได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ แม้แต่น้อย ขณะเดียวกันก็พบเห็นบ้านหลายหลังพังราบเป็นหน้ากลอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า ไม่พบเห็นร้านค้า ชาวบ้านต้องปลูกผักไว้รับประทานประทังชีวิต หลังจากพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายยับเยิน ส่วนผู้ชายคนหนึ่งเล่าว่าลูกๆ ของเขากำลังหิวโซ และต้องคุ้ยเขี่ยกองขยะหาอะไรที่พอจะกินได้
บีบีซีรายงานว่า ชาวบ้านต้องดื่มน้ำทะเลมาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วันแล้ว ทว่าคงไม่มีใครสามารถใช้ชีวิตในลักษณะนี้ไปนานๆ ทั้งนี้ แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตถือว่าต่ำมาก แต่ในแง่ความทุกข์ทรมานนั้นถึงขั้นแสนสาหัส
การนำความช่วยเหลือไปยังเกาะต่างๆ นั้น นับว่ายากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีลานบิน หรือท่าเรือน้ำลึก โดยคณะบรรทุกทุกข์ต้องขนเสบียงด้านการแพทย์ น้ำ อาหารและอุปกรณ์พักพิงไปลงที่เกาะแทนนาและเอร์นามันโก ที่อยู่รอบนอกก่อน
เวลานี้รัฐบาลกำลังดำเนินแผนจัดตั้งระบบส่งผ่านที่เรียกว่า “air bridges” โดยจะส่งเครื่องบินลำใหญ่มุ่งหน้าไปยังเมืองเอกของเกาะแทนนา ส่วนเครื่องบินขนาดเล็กและกองเรือจะถูกกระจายไปยังเกาะต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ
เกาะแทนนา ซึ่งมีประชากรอยู่ราวๆ 30,000 คนและอยู่ห่างจากพอร์ตวิลา ไปทางใต้ราว 200 กิโลเมตร เป็นเส้นทางผ่านโดยตรงของไซโคลน ซึ่งผลก็คือพืชผลทางการเกษตรและบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายยับเยิน