เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยในวันจันทร์ (16 มี.ค.) ระบุ เศรษฐกิจอินเดียจะมีการเติบโตและขยายตัวต่อเนื่องจนมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกันภายในช่วงสิ้นทศวรรษนี้ ก่อนที่อินเดียจะขยับ “แซงหน้าจีน” เป็น "ตลาดแรงงานใหญ่สุดในโลก" ได้ภายในปี 2030 หรือในอีก 15 ปีข้างหน้า
กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจของอินเดียในเวลานี้ เปรียบเหมือนเป็น “แสงสว่างจุดเล็กๆ”ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก พร้อมชี้ ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาดี และความก้าวหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง จะเป็นสองปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอินเดีย “พุ่งทะยาน” ได้ในไม่กี่ปีจากนี้
ลาการ์ดระบุว่า ทางผู้เชี่ยวชาญของไอเอ็มเอฟได้ปรับเป้าคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุ เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตได้ราว 7.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016
ขณะเดียวกัน บอสใหญ่ไอเอ็มเอฟยังเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่จีดีพีของอินเดียจะเติบโตจนมีขนาดใหญ่กว่าจีดีพีของทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกันภายในช่วงสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในปี 2019 และหากเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีก 3 แห่งต่อมาทั้งรัสเซีย บราซิล และอินโดนีเซียแล้ว ผลผลิตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะถือว่าสูงกว่าของเขตเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ทั้ง 3 แห่งรวมกันอีกด้วยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟยังประเมินว่าอินเดียมีศักยภาพมากพอที่จะก้าว “แซงหน้าจีน” ขึ้นเป็น "ตลาดแรงงานใหญ่สุดในโลก"ได้ภายในปี 2030 หรือในอีก 15 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจอินเดียจะส่งสัญญาณเชิงบวกมากมาย แต่ในการกล่าวสุนทรพจน์และแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจอินเดียของนางลาการ์ดซึ่งมีขึ้น ณ วิทยาลัยสตรีศรีราม ในกรุงนิวเดลีครั้งนี้ มีการกล่าวถึง “จุดอ่อนด้อย” เพียงจุดเดียวที่อินเดียยัง “แก้ไม่ตก” นั่นคือ การไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่
บอสใหญ่ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลอินเดียต้องเร่งแก้ปัญหานี้ เพราะการขาดหายไปของบทบาทสตรีถือเป็น “การพลาดโอกาสครั้งใหญ่” สำหรับเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลด้านแรงงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟระบุว่า ผู้หญิงได้รับโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอินเดียเพียงร้อยละ 33 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราการมีส่วนร่วมที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงานโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 50 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 63
ขณะเดียวกันอินเดียยังคงเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่า มี “ช่องว่างทางเพศ” ระหว่างชาย-หญิง ในตลาดแรงงานสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากซาอุดีอาระเบียเมื่อเทียบกันในหมู่สมาชิกกลุ่ม “G20” หรือ 20 เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน