รอยเตอร์/เอเอฟพี - คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยเมื่อวันพุธ (4 มี.ค.) วิกฤตความขัดแย้งทางภาคตะวันออกคือปัจจัยสำคัญที่สร้างความไขว้เขวแก่ความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจของยูเครน พร้อมเชื่อรัสเซียเองก็ไม่ต้องการเห็นเศรษฐกิจเคียฟพังครืน
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็มเอสเอ็นบีซี กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ บอกว่าแรงสนับสนุนทางการเงินแก่เคียฟขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของสถานการณ์ทางภาคตะวันออกของยูเครน ดินแดนทีพวกกบฏฝักใฝ่รัสเซียกำลังสู้รบกับกองกำลังรัฐบาล
ลาการ์ดกล่าวว่า ในขณะที่พวกผู้นำปัจจุบันของยูเครน มีความตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ความขัดแย้งทางภาคตะวันออกของประเทศคือสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจใหญ่หลวง
เมื่อเดือนที่แล้ว นางลาการ์ดแถลงว่า ยูเครนจะได้รับเงินช่วยเหลือราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 4 ปีข้างหน้า ด้วยเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวมาจากไอเอ็มเอฟ อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าการสนับสนุนดังกล่าวและผลลัพธ์ของมันขึ้นอยู่กับว่าจะคลี่คลายวิกฤตทางภาคตะวันออกที่มีรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร
“เรากำลังพยายามช่วยเหลือยูเครนจัดทำมาตรการปฏิรูปต่างๆ ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างมโหฬาร แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางภาคตะวันออก แนวทางที่สงครามและความขัดแย้งจะสงบลง”
เมื่อถูกถามถึงบทบาททางการเงินของรัสเซียในยูเครน นางลาการ์ดเชื่อว่ารัสเซียไม่ต้องการเห็นเศรษฐกิจเคียฟพังครืน โดยเห็นได้จากการที่ยังคงขายก๊าซให้แก่ประเทศแห่งนี้
“ฉันคิดว่ารัสเซียไม่ต้องการเห็นยูเครนพังครืน เนื่องจากฉันไม่คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในฐานะซัปพลายเออร์ ในฐานะเจ้าหนี้ หรือเพราะต้องการเงินที่ค้างชำระ” เธอกล่าว “แน่นอนว่าคุณต้องการเงินคืนอยู่แล้ว ดังนั้นต้องมีข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในการจ่ายเงินค้างชำระหรือจ่ายค่าก๊าซล่วงหน้า”