เอเจนซีส์ – ชาวบราซิลราว 1.5 ล้านคนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีหญิง ดิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศ วานนี้ (15 มี.ค.) ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และคดีทุจริตอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับเงินใต้โต๊ะและฟอกเงินของรัฐวิสาหกิจน้ำมันเปโตรบราส ซึ่งมีทั้งอดีตผู้บริหารและนักการเมืองเข้าไปพัวพันหลายราย
เสียงเรียกร้องให้ถอดถอน รุสเซฟฟ์ ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เธอเพิ่งคว้าชัยในศึกเลือกตั้งเมื่อ 6 เดือนก่อนมาแบบฉิวเฉียด และกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำบราซิลได้เป็นสมัยที่ 2
จุดชุมนุมใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองเซาเปาลูซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของฝ่ายต่อต้านรุสเซฟฟ์ โดยตำรวจประเมินว่าน่าจะมีประชาชนออกมาแสดงพลังไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีในอีก 83 เมืองทั่วประเทศ รวมถึงที่กรุงบราซิเลียและนครรีโอเดจาเนโร
ยอดผู้ชุมนุมครั้งนี้ใกล้เคียงกับการประท้วงใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2013 ซึ่งมีชนวนเหตุจากความไม่พอใจที่รัฐบาลนำเงินมหาศาลไปทุ่มกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 โดยผู้ชุมนุมนเห็นว่ารัฐบาลควรปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน และนำเงินภาษีไปปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่ง สาธารณสุข และการศึกษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองมากกว่า
“พวกเราคือประชาชนนับแสนที่จะสั่งปลด ดิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่ง” รูเบนส์ นูเนส วัย 26 ปี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่เมืองเซาเปาลู ท่ามกลางขบวนผู้ประท้วงบนถนนพอลิสตา (Avenida Paulista) ที่ยาวเหยียดเป็นระยะทางถึง 4 กิโลเมตร
กิจกรรมครั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมล้นหลามเกินคาด กลบกระแสการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและองค์กรภาคสังคมที่ออกมาชุมนุมสนับสนุนพรรคแรงงาน (พีที) ของ รุสเซฟฟ์ และบริษัทเปโตรบราส เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (13)
ตำรวจประเมินว่า เฉพาะที่กรุงบราซิเลียเพียงแห่งเดียวก็มีประชาชนร่วมเดินขบวนไปยังอาคารรัฐสภาเมื่อวานนี้ (15) ประมาณ 45,000-50,000 คน
อดีตผู้บริหารเปโตรบราสและนักการเมืองที่เป็นพันธมิตรของ รุสเซฟฟ์ หลายรายถูกสอบสวนในความผิดฐานรับเงินใต้โต๊ะและฟอกเงิน ซึ่งทำให้รัฐวิสาหกิจพลังงานต้องสูญเงินไปถึง 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทว่าจนบัดนี้ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้ และผู้ถูกกล่าวหาบางคนก็ได้กระทำความผิดในช่วงที่ รุสเซฟฟ์ ยังเป็นประธานบอร์ดบริหารเปโตรบราสอยู่ด้วย
นอกจากคดีเปโตรบราส รัฐบาล รุสเซฟฟ์ ยังถูกวิจารณ์ว่าไร้ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อซึ่งทำให้เศรษฐกิจบราซิลเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สกุลเงินเรอัลก็อ่อนค่าลงถึง 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 12 เดือน