เอเจนซีส์ - เจย์ ฟามิลกลิเอ็ตต์ (Jay Familgliett) นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าขององค์การนาซา สหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนรัฐแคลิฟอร์เนียว่า เหลือเวลาแค่ 1 ปีที่มีน้ำไว้สำหรับใช้สอย หลังวัดจากน้ำตามแหล่งธรรมชาติ และน้ำใต้ดินที่มีภายในรัฐ รวมไปถึงเสนอแนวคิด “ปันส่วนน้ำที่มี” หลังจากตำหนิว่ารัฐแคลิฟอร์เนียไม่มีแผนสำรองในการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างถาวร หลังจากล่าสุดรัฐแคลิฟอร์เนียทำลายสถิติในเดือนมกราคมที่ผ่านมาของภัยแล้งที่สุดนับตั้งแต่ปี 1895
รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีปัญหาขาดน้ำมาโดยตลอด ล่าสุดเพิ่งทำลายสถิติในเดือนมกราคมของสภาพแห้งแล้งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1895 หลังจากพบว่าน้ำใต้ดิน และระดับหิมะต่ำตลอดเวลา โดยเจย์ ฟามิลกลิเอ็ตต์ (Jay Familgliett) นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าขององค์การนาซา สหรัฐฯ ได้เขียนคอลัมน์ในสื่อแอลเอไทม์ส ชี้ว่า รัฐแคลิฟอร์เนียกำลังประสบปัญหาน้ำภายในรัฐกำลังหมดไป หลังจากปีที่ผ่านมาล่าสุดเกิดปัญหาภัยแล้งจัดทั้งปี และระดับน้ำในแหล่งเก็บลดต่ำนับตั้งแต่ปี 2002 อ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียมของนาซา
โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาใข้ดาวเทียมการทดลองทางสภาพอากาศและการค้นพบแรงโน้มถ่วง หรือ GRACE ตรวจพบว่าอ่างเก็บน้ำซาคราเมนโตและลุ่มแม่น้ำซาโจอาควิน (San Joaquin)นั้นมีน้ำเพียงแค่ 41.6ล้านล้านลิตร ต่ำกว่าระดับปกติของฤดูกาล และทางนาซาพบว่า ระดับน้ำต่ำลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการส่งดาวเทียม GRACE ขึ้นสู่อวกาศปี 2002
นอกจากนี้พบว่าโดยเฉลี่ย ประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนียใช้น้ำราว 181 แกลอนต่อวัน และ 2.5 ล้านแกลอนต่อปี รายงานจากเว็บไซต์ USGS
และเป็นผลทำให้ฟามิลกลิเอ็ตต์เรียกร้องให้ทางรัฐจัดระบบ “ปันการใช้น้ำอย่างเร่งด่วน” ซึ่งรวมไปถึงการใช้น้ำภายในครัวเรือน เมือง ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม
จากผลโพลล่าสุดชี้ว่า ชาวแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่ถึง 94% เชื่อว่าปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาร้ายแรง และ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนมาตรการปันน้ำ
นอกจากมาตรการปันน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังมีมาตรการผลิตน้ำจากน้ำทะเลอยู่ในข้อเสนอ โดยในขณะนี้เมืองซานดิเอโกกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุดทางตะวันตกของเมือง ซึ่งโปรเจกต์ร่วม 1 พันล้านดอลลาร์นี้คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำจืดสำหรับดื่มได้ราว 50 ล้านแกลอนต่อวัน และจะเริ่มเปิดใช้งานโรงงานแห่งนี้ได้ในปี 2016 ในขณะที่โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอีก 15 โรงคาดจะตั้งขึ้นตามแนวชายฝั่งตั้งแต่แอลเอไปจนถึงซานฟรานซิสโก
แต่กระนั้นยังมีข้อเสียต่อการแก้ไขด้วยวิธีผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพราะพบว่าทางซานดิเอโกต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในกระบวนการผลิตซึ่งต่างจากการได้น้ำด้วยวิธีอื่น และการที่จะสามารถผลิตน้ำดื่มให้ได้ถึง 50 ล้านแกลอน นั้นต้องใช้น้ำทะเลถึง 100 ล้านแกลอนในการผลิต และเมื่อปล่อยน้ำที่ได้จากการผลิตกลับคืนจะเป็นการเพิ่มระดับความเค็มให้มากขึ้น
และนอกเหนือจากวิธีผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เมืองต่างๆในแคลิฟอร์เนียมีแนวคิดในการนำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้บริโภค และนำกลับคืนสู่แหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ