เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรี อังเกล แมร์เคิล หยิบยกประสบการณ์ของเยอรมนีเตือนสตินายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กลายๆ เมื่อวันจันทร์ (9 มี.ค.) ระบุการที่เมืองเบียร์กลับมาเป็นที่นับหน้าถือตาของนานาชาติ เนื่องจากยอมรับความผิดพลาดจากพฤติกรรมป่าเถื่อนในช่วงสงครามโลกของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านให้อภัยอย่างใจกว้างอันนำไปสู่การปรองดองอย่างสันติ
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการแสดงปาฐกถาที่จัดโดยอาซาฮี หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยมของญี่ปุ่น เมื่อวันจันทร์ (9) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีสำทับว่า ไม่สามารถให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงแก่ญี่ปุ่นได้ เนื่องจากประชาชนในแต่ละประเทศควรเรียนรู้บทเรียนของตัวเอง
การแสดงปาฐกถาดังกล่าวซึ่งเป็นการเปิดฉากการเยือนญี่ปุ่นคราวนี้ของแมร์เคิล มีขึ้นขณะที่นายกรัฐมนตรีอาเบะกำลังเตรียมคำแถลงในวาระครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าผู้นำชาตินิยมสายเหยี่ยวของญี่ปุ่นผู้นี้อาจลดระดับการกล่าวขออภัยเกี่ยวกับพฤติการณ์รุกรานของกองทัพแดนอาทิตย์อุทัย ต่อชาติต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
แมร์เคิลกล่าวว่า เยอรมนีชื่นชมในความใจกว้างของเพื่อนบ้านที่อ้าแขนรับเมืองเบียร์กลับสู่ประชาคมโลก แม้กองทัพนาซีได้ก่อสงครามหฤโหดและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ตาม ขณะที่เยอรมนีเองก็พร้อมเผชิญหน้ากับอดีตอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา
ในการปราศรัยในวันแรกของการเยือนโตเกียวเป็นเวลา 2 วัน แมร์เคิลยังอ้างอิงถ้อยแถลงของอดีตประธานาธิบดีเยอรมันผู้ล่วงลับ ริชาร์ด ฟอน ไวซ์เซกเกอร์ ที่ระบุว่า การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปถือเป็น “วันแห่งการปลดปล่อย” และว่า ผู้ที่ปิดหูปิดตาไม่ยอมรับอดีตคือผู้ที่ “ตามืดบอดต่อปัจจุบัน”
“ในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นการยากที่ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำวิธีการจัดการกับเพื่อนบ้านของพวกท่าน เนื่องจากสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการในสังคม”
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด คือ จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างเป็นเหยื่อความโหดร้ายของลัทธิทหารของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในภาวะเลวร้ายลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักคือความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและความขัดแย้งด้านดินแดน
ภายใต้รัฐบาลของอาเบะ ญี่ปุ่นถูกมองว่ากำลังพยายามลบล้างอำพรางความป่าเถื่อนในช่วงสงคราม ถึงแม้ตัวอาเบะเองนั้นบอกว่าตั้งใจจะแสดงความสำนึกผิดต่อเหตุการณ์ในช่วงสงคราม และคณะรัฐมนตรีจะยึดถือคำขอขมาในอดีต ซึ่งรวมถึงแถลงการณ์ที่เป็นหลักอ้างอิงสำคัญในปี 1995 ของโทมิอิชิ มุรายามะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า อาเบะจะยังคงวลี “ขอขมาอย่างจริงใจ” รวมทั้งระบุถึง “การรุกรานและการเข้ายึดครองประเทศอื่นเป็นอาณานิคม” เอาไว้ในคำแถลงเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่ ขณะที่นักชาตินิยมในญี่ปุ่นบอกว่า โตเกียวขอโทษมามากเพียงพอแล้ว
นักวิชาการบางคนกล่าวว่า แม้ญี่ปุ่นมีส่วนรับผิดชอบ แต่การที่เอเชียตะวันออกไม่สามารถปล่อยวางปีศาจสงครามได้ ยังสืบเนื่องมาจากการที่ในอดีตที่ผ่านมานักการเมืองสายอนุรักษนิยมของญี่ปุ่น มักขาดความจริงใจในการกล่าวคำขอโทษเกี่ยวกับการกระทำอันเลวร้ายในสงครามโลกครั้งที่สองของแดนอาทิตย์อุทัย
นอกจากนั้น จีนและเกาหลีใต้ยังคงรักษาบรรยากาศของความตึงเครียด เนื่องจากสามารถใช้ประวัติศาสตร์เพื่อแสวงผลทางการเมืองและการทูต
ทั้งนี้ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (8) ว่า อาจยินดีให้อาเบะเข้าร่วมพิธีรำลึกวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หากผู้นำญี่ปุ่น “จริงใจ” กับประวัติศาสตร์
ปักกิ่งนั้นไม่ได้ระบุวันที่แน่นอนในการจัดพิธีรำลึกนี้ แต่โดยทั่วไปถือกันว่า วันที่ 3 กันยายน หรือหนึ่งวันหลังจากที่ญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงยอมจำนนต่อกองทัพสัมพันธมิตรบนเรือยูเอสเอส มิสซูรี ในอ่าวโตเกียว เป็นวันแห่งชัยชนะต่อญี่ปุ่น