เอเจนซีส์ - ผู้นำออสเตรเลียเผยกำลังหารือกับจีนและมาเลเซียว่า จะยุติปฏิบัติการทั้งหมดในการค้นหาเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ ซึ่งสูญหายไปเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน ภายในเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่ เพราะให้ค้นหา “ตลอดกาล” คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นหากขยายพื้นที่ค้นหาต่อไปอาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถรองรับได้ เว้นแต่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งออสเตรเลียร่วมกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เริ่มทดลองระบบใหม่ในการติดตามตรวจสอบเครื่องบิน เพื่อช่วยจำกัดพื้นที่การค้นหาให้แคบลงหากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้นมาอีกในอนาคต
เครื่องบินโบอิ้ง 777 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนและมาเลเซียได้หายไปจากจอเรดาร์ไม่นานหลังทะยานขึ้นจากกัวลาลัมเปอร์มุ่งหน้าสู่ปักกิ่งเมื่อเช้าวันที่ 8 มีนาคมปีที่แล้ว โดยที่เวลานี้ยังไม่มีใครพบเบาะแสอันชัดเจนใดๆ และกลายเป็นหนึ่งในปริศนาลึกลับที่สุดในวงการการบินโลก
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าเครื่องบินลำนี้ถูกบังคับออกนอกเส้นทางไปหลายพันไมล์ และคงจะตกลงสู่ทะเล ณ จุดใดจุดหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย
อย่างไรก็ตาม การค้นหาซากเครื่องบินในบริเวณน่านน้ำ 60,000 ตารางกิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ทของออสเตรเลีย ไปทางตะวันตกราว 1,600 กิโลเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีแนวโน้มมากที่สุดที่จะเป็นจุดตกของ MH370 อาจจะสิ้นสุดลงภายในเดือนพฤษภาคม
รองนายกรัฐมนตรีวอร์เรน ทรัสส์ ของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ (1 มี.ค.) ว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจว่า จะขยายการค้นหาในบริเวณ 1.1 ล้านตารางกิโลเมตรรอบพื้นที่ค้นหาเดิมหรือไม่ หากยังไม่พบความคืบหน้าใดๆ
ทรัสส์ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมเสริมว่า ขณะนี้เริ่มมีการหารือถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกการค้นหา
“สำหรับครอบครัวผู้โดยสาร พวกเขาคงไม่ต้องการยุติจนกว่าจะมั่นใจว่าพบซากเครื่องบินแล้ว หรืออาจจะกู้ร่างบุคคลที่พวกเขารักขึ้นมาได้”
“เราคงไม่สามารถค้นหาไปตลอดกาล แต่เราก็อยากทำทุกวิถีทางที่จะพอจะเป็นไปได้ เพื่อหาจุดตกของเครื่องบินให้เจอ” ทรัสส์กล่าว
รองนายกฯ ออสซี่ยังได้เปรียบเทียบภารกิจค้นหา MH370 ที่สูญเสียงบประมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินว่าไม่ต่างจากการสืบหาร่องรอยของ อาเมเลีย เอียร์ฮาร์ต นักบินหญิงชาวอเมริกันรุ่นบุกเบิกที่สูญหายไปกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะพยายามเดินทางรอบโลกเมื่อปี 1937
ขณะนี้ โดรนใต้น้ำซึ่งติดตั้งบนเรือค้นหา 4 ลำจากบริษัทวิศวกรรม ฟูโกร ของเนเธอร์แลนด์ ได้ทำการสำรวจไปแล้วราวๆ 40% ของพื้นทะเลในจุดที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงสุดว่าจะพบซากเครื่องบิน
ออสเตรเลียและมาเลเซียได้ร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการค้นหา ซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ราวๆ 52 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในขณะนี้ แต่ ทรัสส์ เตือนว่า การขยายพื้นที่ค้นหาออกไปอีกคงจะเป็นไปได้ยาก เว้นแต่นานาชาติจะยื่นมือสนับสนุนอีกแรง
อย่างไรก็ดี มาร์ติน โดแลน ประธานคณะกรรมาธิการสำนักงานความปลอดภัยในการขนส่งของออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้นำการค้นหา แสดงความเชื่อมั่นว่า จะพบ MH370 ในบริเวณที่เหลือของพื้นที่ค้นหาหลัก
ทางด้านหง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ออสเตรเลีย จีน และมาเลเซียร่วมมือในการค้นหาอย่างใกล้ชิด พร้อมแสดงความขอบคุณที่ออสเตรเลียทุ่มเททั้งบุคลากรและทรัพยากรจำนวนมาก และว่า การค้นหายังคงดำเนินต่อไปพร้อมความหวังว่า จะมีความคืบหน้าปรากฏให้เห็น
ในอีกด้านหนึ่ง ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กำลังเริ่มโครงการทดลองเพื่อให้ศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศสามารถติดตามเครื่องบินที่บินผ่านมหาสมุทรในบริเวณห่างไกล ดังที่เชื่อกันว่าเป็นจุดตกของ MH370 อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ภายใต้ระบบที่กำลังทดลองอยู่นี้ เที่ยวบินระยะไกลต้องได้รับการตรวจสอบจากศูนย์ควบคุมทุก 15 นาที จากเดิมทุก 30-40 นาที อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การทดลองนี้จะครอบคลุมเที่ยวบินหรือเส้นทางใดบ้าง
ทรัสส์เผยว่า ระบบใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่แล้วในเที่ยวบินระยะไกล จะทำให้พื้นที่ค้นหาแคบลงหากเกิดอุบัติเหตุในอนาคต ซึ่งเท่ากับว่า สายการบินไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ทางด้านบรรดาสายการบินบอกว่า โดยทั่วไปแล้วพวกเขาสนับสนุนให้ปรับปรุงระบบติดตามเครื่องบินอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาพากันคัดค้านก่อนก่อนหน้านี้คือข้อเสนอแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งบังคับให้แก้ไขระบบที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน ทั้งที่ระบบนี้ยังต้องการเวลาในการวิวัฒนาการให้เกิดความสมบูรณ์
ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดว่าสหภาพยุโรป (อียู) จะเปิดเผยกฎระเบียบใหม่ในการติดตามเครื่องบินในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประชาคมการบินนานาชาติก็จะพยายามแสดงให้เห็นความคืบหน้า หลังจากที่ MH370 สูญหายจะครบ 1 ปีแล้วในอีกไม่กี่วันข้างหน้า