เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เป็นเรื่องที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าความงามตามธรรมชาติของอุทยานต่างๆ รวมไปถึงโบราณสถานดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาไทย แต่ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการปรับราคาค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานทุกแห่งในไทย ส่งผลทำให้เดลี เทเลกราฟ สื่ออังกฤษ ต้องตั้งคำถามผ่านหน้าสื่อเมื่อวานนี้(25)ว่า “เป็นธรรมหรือไม่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องชำระค่าธรรมเนียมเข้าชมในสถานที่ท่องเที่ยวสูงกว่านักท่องเที่ยวชาวไทย”
เดลี เทเลกราฟ รายงานเมื่อวานนี้(25) ถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยผ่านข้อเขียนของคริส ลีดบีเธอร์ ( Chris Leadbeater )ว่า อาจเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างแดนที่รอนแรมมาจากอีกซีกโลกหนึ่ง เมื่อเดินไปถึงยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในไทย เป็นต้นว่า วัด พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งอุทยานแห่งชาติต่างๆ ไม่เพียงแต่ต้องผจญกับการเข้าคิวต่อแถวยาวเพื่อเข้าชมสถานที่นั้นๆเมื่อเดินทางไปถึง แต่ยังต้องเสียเงินค่าเข้าชมสูงมากว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมากที่เข้าชมสถานที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน
ซึ่งคำถามที่คาใจของบรรดาแบกแพคเกอร์จากแดนไกลได้กลับมาทิ่มแทงอีกครั้งเมื่อพบว่าในเดือนแห่งความรักนี้ อุทยานแห่งชาติทุกแห่งในไทยมีการปรับราคาเข้าชมสูงขึ้น และทางหน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลอุทยานเหล่านี้ได้เริ่มต้นบังคับใช้อัตราใหม่ไปแล้วกับนักท่องเที่ยวทุกคน
สื่ออังกฤษยกตัวอย่างถึงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน แหล่งดำน้ำชั้นดีสำหรับผู้หลงไหลความงามใต้ทะเล ที่อยู่ไม่ไกลจากจ.ภูเก็ต ได้ปรับราคาเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 400 บาท หรือ 8 ปอนด์ เป็น 500 บาท หรือ 10 ปอนด์ ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจากที่เคยชำระในอัตรา 80 บาท หรือ 1.50 ปอนด์ ถูกปรับเป็น 100 บาท หรือ 2 ปอนด์เท่านั้น และตัวเลขเหล่านี้ รวมไปถึงสัดส่วนความต่างของราคาคนไทยและราคาต่างชาติถูกพบในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เช่นเดียวกัน
และสื่ออังกฤษพบว่าอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 31 แห่งทั่วประเทศต่างล้วนปรับค่าเข้าชมเพิ่ม โดยเฉพาะในส่วนราคานักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า จากมาตรฐานการปรับค่าเข้าชมระบบ 2 อัตราที่ไทยใช้ในสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ที่เก็บค่าเข้าชมสถานที่กับต่างชาติในอัตราสูงลิ่วในขณะที่ลดราคาเข้าชมให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยในฐานะผู้ต้องจ่ายภาษี ซึ่งลีดบีเธอร์ ผู้เขียนคาดว่าเงินภาษีของนักท่องเที่ยวไทยได้ถูกจัดสรรเป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ดูแลอุทยานแห่งชาติต่างๆ หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เดลี เทเลกราฟ อธิบายเพิ่มเติมว่า อาจใช้คำอธิบายได้ว่า ในส่วนสถานที่สำคัญ เช่น ศาสนสถาน หรือวัด เห็นสมควรให้นักท่องเที่ยวไทยชำระค่าเข้าชมในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถไปเยือนสถานที่เหล่านั้นได้บ่อยตามต้องการ
นอกจากนี้เดลี เทเลกราฟ ยังชี้ถึงปัจจัยที่ 2 ของราคาค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติที่ปรับสูงขึ้น โดยลีดบีเธอร์ผู้เขียนคาดว่าอาจเกิดมาจากค่าใช้จ่ายในการดูแลอุทยานนั้นมีตัวเลขที่สูง และการเก็บค่าเข้าชมในส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ได้ ในขณะที่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถเข้าไปเข้าชมอุทยานแห่งชาติในประเทศของตน ซึ่งถือเป็นเสมือนแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในราคาที่คนไทยจ่ายได้
และแน่นอนที่สุดไม่ใช่ไทยเพียงชาติเดียวที่ใช้ระบบค่าธรรมเนียม 2อัตราในแหล่งท่องเที่ยว เช่น กัมพูชา หากนักท่องเที่ยวถือพาสปอร์ตยุโรปจะเสียค่าธรรมเนียมเข้าชมราว 20 ดอลลาร์ หรือ 13 ปอนด์ แต่หากเป็นชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในเสียมราษฎร์ จะได้รับการยกเว้นค่าผ่านประตู เป็นต้น
นอกจากนี้ระบบค่าธรรมเนียม 2อัตรายังถูกใช้ในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ตัวอย่างเช่น ถ้ำแฮริสสัน ทางตะวันตกของบาร์เบโดส รัฐบาลบาร์เบโดสกำหนดค่าเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60 ดอลลาร์บาร์เบดอส หรือ19.50 ปอนด์ ในขณะที่ชาวบาร์เบโดสหากต้องการไปเยือนสถานที่แห่งนี้ จะเสียค่าธรรมเนียมราว 50 ดอลลาร์บาร์เบดอส หรือ 16 ปอนด์ นี่สมเหตุสมผลหรือไม่ ? สื่ออังกฤษถาม
ซึ่งจากสัญชาติญาณของ ลีดบีเธอร์ ผู้เขียน ที่พยายามหาคำตอบให้กับตัวเอง และเขาสรุปว่า อาจเป็นเพราะในประเทศที่รายได้ของพลเมืองนั้นมีช่องว่างห่างมากจากรายได้โดยเฉลี่ยของแขกที่มาเยือนจากแดนไกล ดังนั้นน่าจะสมเหตุสมผลที่จะนำรายได้ที่เกิดจากส่วนต่างของค่าเข้าชมเพื่อนำไปสนับสนุน และไม่ถือว่าเอาเปรียบเกินไป เช่น เงินเดือนเฉลี่ยของชาวกัมพูชาตกราว 750 ดอลลาร์ หรือราว 485 ปอนด์ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า เงินจำนวนนี้น้อยกว่างบท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากยุโรปหรือสหรัฐฯที่มาเยือนกัมพูชา ประเทศที่เพิ่งผ่านสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นแน่ และผู้เขียนในฐานะที่ได้เคยไปเยือนกัมพูชา และได้เข้าชมนครวัดอันวิจิตร ขอรับรองว่า ราคาค่าเข้าชมราว 13 ปอนด์นั้นถูกเกินบรรยาย
อย่างไรก็ตาม คำถามถึงความสมเหตุสมผลในการตั้งราคานักท่องเที่ยวต่างชาติสุดโหดเมื่อเทียบกับราคานักท่องเที่ยวพลเมืองชาตินั้นยังคงเป็นคำถามต่อไป โดยเฉพาะในกรณีที่รายได้ต่อหัวของพลเมืองประเทศนั้นและเทียบกับของผู้มาเยือนไม่ต่างมากนัก ตัวอย่าง เช่น รัสเซีย หรือ “ปูตินแลนด์” ที่ลีดบีเธอร์ไม่คิดว่าจะขาดแคลนเงินเท่าใดนัก หากไม่นับว่ารัสเซียได้ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก
ซึ่งผู้เขียนจากเดลี เทเลกราฟเตือนว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องชำระค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่ต่างๆในกรุงเเซนต์ปีเตอร์เบิร์กนครที่มั่งคั่ง มากกว่าปกติในซัมเมอร์ที่จะถึงนี้ เช่น พิพิธภัณฑ์แอร์มิทาชที่เลื่องชื่อของรัสเซีย นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายค่าเข้าชมราว 400 รูเบิล หรือ 4.10 ปอนด์ ในขณะที่ชาวรัสเซียและชาวเบลารุสชำระในอัตรา 350 รูเบิล หรือ 3.50 ปอนด์ ซึ่งสัดส่วนความต่างต่อคนดูไม่สูงนัก แต่ทว่าหากนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางด้วยเรือสาราญ และแวะตามจุดต่างในกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์กแล้วละก้อ เมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆเข้าชมตามสถานที่ต่างๆด้วยกันจะพบว่าสูงมาก อาทิ พระราชวังฤดูร้อนปีเตอร์ฮอฟ ซึ่งอยู่นอกเมือง นักท่องเที่ยวต้องชำระค่าเข้าชม 550 รูเบิล หรือ 5.60 ปอนด์ เมื่อเทียบกับอัตราชาวรัสเซีย 400 รูเบิล หรือ 4.10 ปอนด์ เป็นต้น
ทำให้ ลีดบีเธอร์ผู้เขียนต้องตั้งคำถามกับผู้อ่านในฐานะนักท่องเที่ยวต่างแดนว่า รู้สึกเหมือนถูกปล้นหรือไม่ เมื่อไปเยือนกับสถานที่เหล่านั้นและต้องเสียค่าเข้าชมในราคาที่ต่างมากจากอัตรานักท่องเที่ยวในประเทศ หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจมากนักหากต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเมื่อต้องการเลือกที่จะไปเยือนในสถานที่สุดมหัสจรรย์ทั่วโลก
ซึ่งมีผู้สนใจเข้าตอบแบบสอบถามโพลของลีดบีเธอร์ราว 289 คน ที่ตั้งคำถามว่า ในฐานะที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เห็นสมควรหรือไม่ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงกว่านักท่องเที่ยวท้องถิ่น และมีตัวเลือก 3ตัวเลือก (1) เห็นสมควร (2) เห็นสมควรให้เฉพาะกับประเทศที่กำลังพัฒนา และ(3) ไม่เห็นสมควร และเป็นที่น่าสนใจเมื่อพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ที่คาดว่าส่วนใหญ่อ่าจเป็นนักอ่านชาวอังกฤษ เลือกตอบข้อ (3) มากที่สุด คือ "ไม่สมคร" โดยมีผลลงคะแนนราว 112 คะแนน หรือ 38.75 % ส่วนอันดับที่ 2 คือ ข้อ (2) คือ "เห็นด้วยสำหรับชาติที่กำลังพัฒนา" มีคะแนน 108 หรือ 37.37 % และอันดับ 3 มีคะแนนในข้อ (1) คือ "เห็นสมควร" ที่ 69 คะแนน หรือ 23.88 % ตามลำดับ