เอเอฟพี - ทางการแดนอินทรีเปิดเผยวานนี้ (17 ก.พ.) ว่า ชายชาวรัสเซียที่กำลังถูกตามล่าตัวมารับโทษฐานจารกรรมตลาดหุ้นแนสแดค และระบบการชำระเงินจนสร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ ในข้อหาทางอาญา
วลาดิมีร์ ดริงค์แมน วัย 34 ปี ถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อดำเนินคดีอาญา ที่เมืองนวร์ก มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ หลังถูกทางการเนเธอร์แลนด์ส่งตัวออกนอกประเทศ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง
ดริงค์แมน ซึ่งถูกทางการเนเธอร์แลนด์จับกุมได้เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2011 ถูกตั้งข้อหาที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้ว่า “เป็นการจารกรรมระดับนานาชาติ และเป็นโครงการสอดแนมข้อมูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ เคยดำเนินคดีมา”
ดริงค์แมน และผู้ร่วมกระทำผิดถูกตั้งข้อหาโจมตีแนสแดค กิจการค้าปลีกเซเว่นอีเลฟเว่น, คาร์ฟูร์, เจซี เพนนี และบริษัทอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปี 2012 จนสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2009 ดริงค์แมน และอเล็กซันดร์ คาลินิน สหายชาวรัสเซียถูกตั้งข้อหาในฐานะ “แฮกเกอร์ที่ 1” และ “แฮกเกอร์ที่ 2” ในคำฟ้องร้องเอาผิดต่ออัลเบิร์ต กอนซาเลซ ชายผู้พัวพันการลอบสอดแนมข้อมูลบริษัท 5 ครั้ง รวมทั้งการเจาะระบบของบริษัทผู้ให้บริการระบบประมวลผลการชำระเงิน “ฮาร์ตแลนด์ เพย์เมนต์ ซิสเตมส์” ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า เป็นการจารกรรมระบบคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่ที่สุด
ในเวลานี้ กอนซาเลซกำลังรับโทษจำคุก 20 ปีที่เรือนจำกลางสหรัฐฯ เพื่อชดใช้ความผิดเหล่านั้น
สำหรับดริงค์แมน และจำเลยอีกคนที่ชื่อ ดมิตรืย สมิเลียเนตส์ ถูกรวบตัวตามประกาศจับของสหรัฐฯ ขณะเดินทางในเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2012 จากนั้นหลายเดือนต่อมา สมิเลียเนตส์ก็ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ และถูกสหรัฐฯ ควบคุมตัวไว้
ส่วนคาลินิน และผู้ร่วมกระทำผิดอีกสองคนหนีรอดไปได้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผย
ดริงค์แมนถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิด ฉ้อโกงเงินผ่านระบบธนาคาร และลอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งความผิดแต่ละกระทงอาจทำให้เขาต้องโทษจำคุก
ทางการวอชิงตันระบุว่า แฮกเกอร์แก๊งนี้ได้ขโมยหมายเลขเครดิตการ์ดราว 160 ล้านหมายเลข ก่อนจะนำไปขายในตลาดมืดออนไลน์
ในเวลานั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการเจาะระบบข้อมูลอย่างใหญ่หลวงที่สุด คือ บริษัทผู้ให้บริการระบบประมวลผลการชำระเงิน ฮาร์ตแลนด์ โดยแฮกเกอร์กลุ่มนี้ได้ส่งมัลแวร์ เข้าเครือข่ายของบริษัท เพื่อเปิดทางให้มิจฉาชีพเข้าไปขโมยหมายเลขบัตรเครดิต 130 หมายเลข จนสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ คำฟ้องยังระบุว่า แฮกเกอร์กลุ่มนี้ได้แทรกซึมเข้าสู่ระบบให้บริการข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับดัชนีดาวโจนส์ จนสร้างความเสียหายให้แก่ทะเบียนผู้ใช้งาน (Log-in credentials) ราว 10,000 ทะเบียน
กิจการห้างค้าปลีก “คาร์ฟูร์” ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในฝรั่งเศส และธนาคาร “เดกเซีย” ของเบลเยียม ก็อยู่ในหมู่ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรไซเบอร์กลุ่มนี้ เช่นเดียวกับสายการบิน “เจ็ตบลู” ของสหรัฐฯ และห้างค้าปลีก ตลอดจนสถาบันการเงินอื่นๆ
ดริงค์แมนถูกศาลสั่งห้ามประกันตัว และมีกำหนดถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีใน 11 ข้อหา ในวันที่ 27 เมษายนนี้
เลสลีย์ คาลด์เวล ผู้ช่วยอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ กล่าวว่า “อาชญากรไซเบอร์เหล่านี้แฝงตัวอยู่ในประเทศหนึ่ง เพื่อขโมยข้อมูลจากอีกประเทศหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อไปทั่วโลก”
“แฮกเกอร์มักอาศัยประโยชน์จากเส้นพรมแดน และความแตกต่างของระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ตัวเองถูกส่งไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่คดีนี้ รวมทั้งการส่งตัวคนร้ายมายังสหรัฐฯ ในวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ... เราจะสามารถนำตัวโจรไซเบอร์มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในสหรัฐฯ ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะก่ออาชญากรรมที่ใดก็ตาม”