xs
xsm
sm
md
lg

“โทนี แบลร์” ชี้ ต้องพัฒนาความเป็นอยู่ชาวปาเลสไตน์ “สันติภาพตะวันออกกลาง” จึงจะเกิดขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โทนี แบลร์ ทูตสันติภาพตะวันออกกลาง (ขวาสุด) เดินทางเยี่ยมชาวปาเลสไตน์ที่อพยพไปอาศัยอยู่ที่โรงเรียนยูเอ็น ในฉนวนกาซา
รอยเตอร์ - โทนี แบลร์ ทูตสันติภาพตะวันออกกลางแถลงวานนี้ (15 ก.พ.) ว่า การทำข้อตกลงสันติภาพใดๆ ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะต้องนำไปสู่การพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายก่อเหตุรุนแรงอีกครั้ง

“สถานการณ์ความขัดแย้งครั้งที่แล้วได้ทำให้ฉนวนกาซาพังพินาศย่อยยับ เป็นผลให้ประชาชนที่นี่ถูกกดขี่ และต้องอาศัยอยู่อย่างลำบากยากแค้น” แบลร์กล่าวในกาซา ซึ่งเป็นสถานที่ที่อิสราเอลส่งเครื่องบินรบเข้าไปทิ้งระเบิดโจมตีขบวนการติดอาวุธอิสลามิสต์ “ฮามาส” เมื่อเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ขณะที่กลุ่มฮามาสก็ระดมยิงจรวดโจมตีตอบโต้

แบล์กล่าวเสริมว่า “ผมรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งว่า หากเราปล่อยให้กาซาอยู่ในสภาพนี้ต่อไป ก็อาจเกิดเหตุรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้ง แล้วเราก็จะต้องกลับไปเผชิญหายนะที่เลวร้ายกว่าเดิม”

เขาชี้ว่าการผลักดันให้กระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องมี “การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ รัฐบาลเอกภาพของปาเลสไตน์ (และ) ดินแดนแห่งนี้จะต้องยกระดับบทบาทความเป็นพันธมิตรกับประชาคมนานาชาติอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง”

แบลร์กล่าวว่าฮามาส ซึ่งเป็นขบวนการติดอาวุธที่แผ่อำนาจปกครองฉนวนกาซา จำเป็นต้องประกาศว่าต้องการทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลหรือไม่ โดยกลุ่มอิสลามิสต์กลุ่มนี้เรียกร้องให้ทำลายอิสราเอล พร้อมทั้งประกาศไม่ยอมรับข้อตกลงสันติภาพใดๆ ก็ตามที่อิสราเอลลงนามร่วมกับ องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (พีเอ) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากโลกตะวันตก และอยู่ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์

“ประชาคมนานาชาติต้องการความชัดเจนจากกลุ่มฮามาส (ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่า) พวกเขาเป็นกลุ่มชาตินิยมปาเลสไตน์ที่ต้องการอุทิศตัวเพื่อให้ปาเลสไตน์ได้รับสถานะรัฐหรือไม่ ... พวกเขาพร้อมจะยอมรับสถานะรัฐปาเลสไตน์ภายในเส้นพรมแดนที่กำหนดขึ้นเมื่อปี 1967 หรือไม่”

ผู้นำบางคนในกลุ่มฮามาสกล่าวว่า พวกเขาจะยอมรับรัฐปาเลสไตน์บนดินแดนที่ถูกอิสราเอลเข้ายึดครองในสงครามปี 1967 เพื่อแลกกับการทำข้อตกลงพักรบระยะยาว แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับสถานะรัฐของอิสราเอล

แบลร์ ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น), สหภาพยุโรป (อียู), รัสเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งมักเรียกรวมกันว่า “ควอร์เทต” ระบุว่า ปาเลสไตน์จะต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่เป็นเอกภาพเท่านั้น ประชาคมนานาชาติจึงจะสามารถ “ส่งเสริมการปรองดอง (ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล) ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟู (ปาเลสไตน์) ได้”

จนถึงตอนนี้มีเงินบริจาคจากนานาชาติถูกส่งไปถึงฉนวนกาซาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภายหลังเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว นานาประเทศได้ให้คำมั่นในการประชุมที่กรุงไคโรว่า จะร่วมกับบริจาคเงินฟื้นฟูฉนวนกาซา 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์หลายพันคนต้องกางเต็นท์นอน ข้างบ้านเรือนที่ถูกทำลายจนเกือบพินาศของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนชาวปาเลสไตน์อีกหลายพันคนต้องอาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่พังเสียหาย โดยใช้แผ่นพลาสติกกางคุ้มฝนแทนหลังคา ขณะที่ผู้พลัดถิ่นราว 20,000 คนนั้นยังคงพักพิงอยู่ตามโรงเรียนขององค์การสหประชาชาติในฉนวนกาซา

องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (พีเอ) จะต้องคอยควบคุมตรวจตราการฟื้นฟูฉนวนกาซา เนื่องจากอิสราเอลและชาติตะวันตกหวั่นเกรงว่า ฮามาสจะใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้รับบริจาคไปสร้างอุโมงค์ลับลอบเข้าอิสราเอล และป้อมปราการ


กำลังโหลดความคิดเห็น