xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอียูพิพากษาให้ถอดชื่อกลุ่ม “ฮามาส” ในกาซาจากบัญชีก่อการร้าย - สภายุโรปจ่อโหวตรับรองปาเลสไตน์ในฐานะ “รัฐ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ศาลสหภาพยุโรปวันนี้ (17 ธ.ค.) มีคำพิพากษาให้ถอดชื่อกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “ฮามาส” ในปาเลสไตน์ออกจากบัญชีดำกลุ่มการก่อการร้ายของสหภาพยุโรป (อียู) แต่ทรัพย์สินของกลุ่มนี้จะยังคงถูกอายัดไว้จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง

ศาลสหภาพยุโรประบุในคำตัดสินว่า การขึ้นบัญชีกลุ่มฮามาส เมื่อปี 2001 นั้นไม่ได้เกิดจากคำพิพากษาอันชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นยึดเอาข้อสรุปจากสื่อและอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ศาลเน้นย้ำว่า คำพิพากษาที่ระบุให้ปลดชื่อฮามาสจากบัญชีก่อการร้ายในวันนี้ (17) นั้นตั้งอยู่บนเหตุผลในทางหลักการ โดยไม่ได้คำนึงสาระสำคัญที่ว่า จริงๆ แล้วฮามาสควรถูกจัดประเภทว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายหรือไม่

แม้กระนั้น สหภาพยุโรปได้ออกมาตอบโต้คำตัดสินของศาล ด้วยการการประกาศว่า ขบวนการฮามาสยังคงถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในสายตาชาติสมาชิกอียู และกำลังพิจารณาจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาล ในขณะที่อิสราเอลออกมาเรียกร้องให้ศาลสหภาพยุโรปขึ้นขึ้นบัญชีกลุ่มฮามาสเป็นขบวนการก่อการร้ายดังเดิม

นอกจากนี้ ศาลที่มีฐานในลักเซมเบิร์กแห่งนี้ระบุว่า เงินทุนของฮามาสที่ถูกอายัดไปสืบเนื่องจากการถูกขึ้นบัญชีดำ จะถูกส่งกลับคืนไปสู่กลุ่มติดอาวุธในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากไม่มีคำร้องเรียนใดๆ จากสหภาพยุโรป

ขบวนการฮามาส ซึ่งแผ่อิทธิพลปกครองฉนวนกาซาของปาเลสไตน์มานับตั้งแต่ปี 2007 ได้ยื่นฟ้อง เพื่อคัดค้านการที่กลุ่มของตนถูกขึ้นบัญชีดำ ด้วยมูลเหตุหลายประการด้วยกัน

ศาลยุโรปประกาศมีคำพิพากษาเช่นนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัฐสภายุโรปจะเริ่มลงมติรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐ ภายหลังที่ชาติสมาชิกอียูหลายประเทศสร้างความแค้นเคืองให้แก่อิสราเอลด้วยการประกาศรับรองสถานะรัฐของปาเลสไตน์ในเชิงสัญลักษณ์

ทั้งนี้ กองกำลังของกลุ่มฮามาสถูกสหภาพยุโรปขึ้นบัญชีก่อการร้าย ซึ่งเป็นรายชื่อที่มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปี 2001 ภายหลังเกิดวินาศกรรมที่สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน
(จากซ้าย) อิสมาอิล ฮานิยา และมุสซา อาบู มาร์ซุก หัวหน้ากลุ่มฮามาส ขึ้นเวทีทักทายฝ่ายสนับสนุนระหว่างการเดินขบวนฉลองครบครอบวันก่อตั้งขบวนการอิสลามิสต์ฮาสมาสปีที่ 27 (14 ธ.ค.) ณ เมืองกาซาซิตี
ต่อมา อียูได้เพิ่มกลุ่มการเมืองของฮามาสต์เข้าไว้ในบัญชีเดียวกัน ในปี 2003

ศาลระบุว่า “ศาลวินิจฉัยพบว่า เกณฑ์วิธีในการประเมิน ที่ถูกกลุ่มฮามาสโต้แย้งนั้นไม่ได้ตั้งอยู่พื้นฐานของกฎหมายที่ผ่านการตรวจสอบ และการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ แต่มาจากการกล่าวหาผ่านสื่อและอินเทอร์เน็ต” ทั้งที่การตัดสินใจขึ้นบัญชีกลุ่มก่อการร้ายนั้นควรยึดเอาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเป็นหลัก



*** สภายุโรปลงมติ ***

ลิเลียน กล็อก ทนายความของกลุ่มฮามาสกล่าวกับเอเอฟพีว่า เธอ “รู้สึกพอใจกับคำตัดสิน”

กล็อกกล่าวว่า “คำตัดสินที่ครั้งที่ออกมาก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งเกิดจากการใช้เกณฑ์การประเมินที่คับแคบได้ถูกศาลประกาศให้เป็นโมฆะ รวมทั้งการขึ้นบัญชีดำกองกำลังของฮามาส ดิฉันเชื่อว่าคำพิพากษาในวันนี้แสดงให้โลกเห็นว่า เป็นคำตัดสินที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย”

นอกจากนี้ ทนายยังระบุเพิ่มเติมว่า คำพิพากษาของศาลสะท้อนให้เห็นว่า สหภาพยุโรปไม่สามารถตัดสินใจขึ้นบัญชีดำ โดยพิจารณาตามบัญชีกลุ่มก่อการร้ายของสหรัฐฯ แม้ว่า จะไม่มีการระบุถึงเรื่องนั้นในคำตัดสินของศาลก็ตาม

ฮามาสก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 ภายหลังเกิดการก่อกบฏปาเลสไตน์ขึ้นเป็นครั้งแรก หรือการลุกฮือขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่ม “ภารดรภาพมุสลิม” ของอียิปต์

ทั้งนี้ ยุโรปเริ่มออกมาแสดงท่าทีหมดความอดทนมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังที่การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่สหรัฐฯ คอยผลักดันไม่สามารถนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้

ภายหลังที่รัฐสภาไอร์แลนด์ และโปรตุเกสเป็นรายล่าสุดที่ลงญัตติรับรองปาเลสไตน์ในฐานะรัฐในสัปดาห์นี้ สภายุโรปในเมืองสตราสบูร์ก ก็กำลังจะจัดการลงมติแบบเดียวกันในวันนี้ (17)

ญัตติดังกล่าวมีหลักใหญ่ใจความว่า สภาจะ “สนับสนุนหลักการรับรองสถานะรัฐของปาเลสไตน์ในทางหลักการ และจะสนับสนุนมติให้อิสราเอลและปาเลสไตน์จัดตั้งสองนครรัฐเคียงคู่กัน และเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะสามารถดำเนินไปพร้อมๆ กับการพัฒนาการเจรจาสันติภาพ ซึ่งควรจะได้รับการผลักดันต่อไป”

เนื่องจากกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางยังคงชะงักงัน วันนี้ (17) ปาเลสไตน์จึงเดินหน้าผลักดันร่างมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์

ร่างมติดังกล่าวเรียกร้องให้ “อิสราเอลถอนพลเมืองออกจากดินแดนที่ยึดครองมาจากปาเลสไตน์นับตั้งแต่ปี 1967 รวมถึง พื้นที่เยรูซาเลมตะวันออกออกไปทั้งหมด โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้ทันกรอบเวลาที่กำหนด คือไม่เกินเดือนพฤศจิกายน ปี 2016”

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ร่างมติฉบับนี้จะถูกคัดค้านโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงที่มีสิทธิวีโต้ (สิทธิยับยั้งมติ) เนื่องจากประเทศนี้เป็นพันธมิตรสำคัญของอิสราเอล
(ภาพจากแฟ้ม) นิคมชาวยิวกีวัตซีฟ ในเขตเวสต์แบงก์

กำลังโหลดความคิดเห็น