เอเอฟพี – สหรัฐฯจับมือร่วมกับอิสราเอลในการประณามการตัดสินใจของศาลอาชญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่จะเปิดการสืบสวนเบื้องต้นวานนี้ (16) ถึงเรื่องอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นกับปาเลสไตน์ โดยวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็น “ตลกร้ายที่น่าเศร้า”
ฟาโทอู เบ็นโซอูดา อัยการของไอซีซี กล่าวว่า สำนักงานของเธอจะดำเนิน “การวิเคราะห์ด้วยความเป็นอิสระและยุติธรรมอย่างเต็มที่” ต่อข้อหาการก่ออาชญากรรมสงครามโดยอิสราเอล รวมถึงผู้ที่กระทำผิดในช่วงการโจมตีฉนวนกาซาเมื่อปีที่แล้ว
การตัดสินใจของเธอมีขึ้นภายหลังปาเลสไตน์เข้าร่วมไอซีซีอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เปิดทางให้พวกเขาสามารถยื่นข้อร้องเรียนอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติฟ้องอิสราเอลในส่วนของเดือนเมษายน
ชาวปาเลสไตน์เกือบ 2,200 คนและชาวอิสราเอล 73 คนถูกสังหารในช่วงสงครามฤดูร้อนปีที่แล้วในฉนวนกาซา
สหรัฐฯออกมาวิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (16) โดยระบุว่า พวกเขาคัดค้านการดำเนินคดีต่ออิสราเอลในไอซีซี เนื่องจาก “ไม่เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ”
“มันเป็นตลกร้ายอันน่าเศร้าที่ว่าอิสราเอล ซึ่งอดทนต่อจรวดของผู้ก่อการร้ายนับร้อยๆลูกที่ยิงมาตกใส่พลเรือนและละแวกบ้านของพวกเขา ตอนนี้กำลังถูกตรวจสอบโดยไอซีซี” เจฟฟ์ ราธเก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในถ้อยแถลง
ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ได้ออกมาตอบโต้อย่างเดือดดาลต่อการตัดสินใจของอัยการรายนี้ โดยเรียกมันว่าเป็นเรื่อง “น่าอดสู” และ “บ้อบอคอแตก” เนื่องจาก “ทางการปาเลสไตน์ร่วมมือกับกลุ่มฮามาส กลุ่มก่อการร้ายซึ่งก่ออาชญากรรมสงคราม ต่างกับอิสราเอลที่ต่อสู้กับความหวาดกลัวพร้อมกันกับรักษากฎหมายระหว่างประเทศ และมีระบบยุติธรรมอันเป็นอิสระ”
เบ็นโซอูดา เคยกล่าวเน้นย้ำไว้ก่อนหน้านี้ว่า “การตรวจสอบเบื้องต้นไม่ใช่การสืบสวน แต่กระบวนการตรวจสอบข้อมูลนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีหลักอันควรหรือไม่ที่จะดำเนินต่อด้วยการสืบสวน” โดยเธอจะตัดสินใจในลำดับต่อไปว่าจะเปิดการสืบสวนเต็มขั้นหรือไม่
อิสราเอลเริ่มการลงโทษขนานใหญ่ต่อเขตเวสต์แบงค์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนปีที่แล้ว หลังจากเหตุลักพาตัวและสังหารวัยรุ่นชาวอิสราเอล 3 ราย ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆตามมาจนนำไปสู่สงครามฉนวนกาซานาน 6 สัปดาห์
การเคลื่อนไหวของปาเลสไตน์ที่จะเข้าร่วมไอซีซีก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ ในการที่จะทำให้การรณรงค์เรื่องการขอสถานะรัฐของพวกเขาเป็นวาระสากล และผละจากกระบวนการสันติภาพที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งติดชะงักมายาวนาน
ปาเลสไตน์ได้รับการยกสถานภาพจากผู้สังเกตการณ์เป็น “รัฐผู้สังเกตการณ์” ขององค์การสหประชาชาติในปี 2012 และได้รับการเปิดรับให้เข้าร่วมไอซีซีและองค์การนานาชาติอื่นๆ
ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล) ก็ออกมาเห็นชอบกับการประกาศดังกล่าวของไอซีซี โดยระบุว่า “สิ่งนี้อาจจะปูทางให้กับเหยื่อหลายพันคนของอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศให้ได้รับการเข้าถึงความยุติธรรม”
อย่างไรก็ตาม “การตรวจสอบเบื้องต้นนี้อาจนำไปสู่การสืบสวนความผิดที่ “กระทำโดยทุกฝ่าย” แอสเนสตี เน้นย้ำในถ้อยแถลง