xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ผู้นำฝ่ายค้านมาเลย์ “อันวาร์ อิบราฮิม” กับอนาคตทางการเมืองที่ถึงทางตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำกลุ่มฝ่ายค้าน ปากาตัน รักยัต ของมาเลเซีย
การเมืองในมาเลเซียเป็นที่จับตามองอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากศาลสูงสุดแดนเสือเหลืองมีคำพิพากษาเมื่อวันอังคาร (10 ก.พ.) ยืนยันความผิดในคดีรักร่วมเพศของนาย อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำกลุ่มฝ่ายค้าน ปากาตัน รักยัต (Pakatan Rakyat) ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นแผนสกปรกของรัฐบาล นาจิบ ราซัก ที่ต้องการกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง และการถูกส่งเข้าเรือนจำครั้งนี้ก็อาจหมายถึงอนาคตทางการเมืองของ อันวาร์ ที่จะต้องดับสูญลงไปด้วย

ผู้พิพากษา อารีฟิน ซากะรียา ยืนยันโทษจำคุก อันวาร์ ตามคำตัดสินของศาลเมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่าหลักฐานทั้งมวลล้วนชี้ชัดว่าผู้นำฝ่ายค้านได้มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ช่วยชายของตนจริง ซึ่งเป็นความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปีตามกฎหมายมาเลเซีย

คำประกาศของศาลสูงสุดสร้างความตกตะลึงต่อแกนนำกลุ่มฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุน และบุคคลในครอบครัวที่เดินทางไปให้กำลังใจอันวาร์ หลายคนถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาเงียบๆ

อันวาร์ ได้ก้าวขึ้นบนโพเดียมพร้อมทั้งกล่าวประณามคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดว่าจงใจสมคบคิดกับพรรคอัมโนทำลายอนาคตทางการเมืองของเขา

“การที่พวกท่านยอมก้มหัวให้แก่คำสั่งของผู้มีอำนาจทางการเมือง เท่ากับท่านได้ร่วมกระทำผิดด้วย... ท่านเลือกที่จะอยู่ข้างความชั่ว... แต่ผมจะไม่นิ่งเงียบ ผมจะไม่มีวันยอมแพ้”

นักวิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศมองว่าคดีรักร่วมเพศเป็นเพียงความพยายามของแนวร่วม บาริซัน เนชันแนล (บีเอ็น) ที่จะทำลายชื่อเสียงของ อันวาร์ และคำตัดสินของศาลสูงสุดไม่เพียงสกัดไม่ให้ อันวาร์ กลับมีบทบาททางการเมืองได้อีก แต่ยังทำให้เสถียรภาพของกลุ่มฝ่ายค้านถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง

ด้วยวัย 67 ปี อันวาร์ จะพ้นคุกเมื่ออายุ 72 หากรับโทษจนครบ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ต้องถูกปลดจากตำแหน่ง ส.ส. และขาดคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งถัดไปในปี 2018

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ยอมรับว่า เคยไปพบกับ โมฮัมหมัด ไซฟุล บุคอรี อัซลัน ผู้ช่วยของอันวาร์ เพียงไม่นานก่อนที่จะมีการยื่นฟ้องข้อหารักร่วมเพศในปี 2008 แต่เขายืนยันว่าไม่ได้มีการวางแผนใส่ร้ายผู้นำฝ่ายค้านตามที่หลายฝ่ายคิด
อันวาร์ และนาง วัน อาซีซะห์ ภรรยาคู่ชีวิต เดินทางมาที่ศาลสูงสุดเพื่อรับฟังคำตัดสินครั้งสุดท้ายในคดีตุ๋ยผู้ช่วยชาย
คำแถลงจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่า กระบวนการไต่สวนคดีมีความเป็นกลางและบริสุทธิ์ยุติธรรมทุกขั้นตอน “ผู้พิพากษาจะประกาศคำตัดสินก็ต่อเมื่อได้พิจารณาพยานหลักฐานทุกแง่มุมอย่างสมดุล... ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้ว รัฐบาลจึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพกระบวนการยุติธรรมและคำตัดสินของศาล”

องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ แถลงประณามคดีนี้ว่าเป็นสิ่งแสดงถึงระดับสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วงในมาเลเซีย และสะท้อนความพยายามของกลุ่มบีเอ็นที่จะปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ชี้ว่าเป็น “คำพิพากษากดขี่ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

นับเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิตนักการเมืองของ อันวาร์ ที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมรักร่วมเพศ

อันวาร์ อิบราฮิม เริ่มก้าวสู่ถนนสายการเมืองช่วงทศวรรษ 1970 ในฐานะนักศึกษามุสลิมหัวรุนแรง เคยเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านความหิวโหยในชนบทจนถูกสั่งจำคุก 20 เดือน และได้สร้างความตกตะลึงต่อสมัครพรรคพวกด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอัมโน

ความเป็นนักพูดฝีปากกล้าและไหวพริบทางการเมืองของ อันวาร์ ทำให้เขากลายเป็นที่จับตามองของ มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจของมาเลเซียซึ่งบริหารประเทศยาวนานระหว่างปี 1981-2003

อันวาร์ ได้ก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล รวมถึงเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในปี 1991 ก่อนจะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีซึ่งทำให้ทุกฝ่ายคาดหมายว่า เขาก็คือว่าที่ผู้นำสูงสุดของมาเลเซียคนต่อไป

แต่แล้วอนาคตของ อันวาร์ ในพรรคอัมโนก็ต้องยุติลง เมื่อเขาแสดงทัศนะขัดแย้งกับ มหาธีร์ ในช่วงที่เกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในเอเชียเมื่อปี 1998 โดยเรียกร้องให้พรรคอัมโนยุติพฤติกรรมคอร์รัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งจุดนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อนายกฯ มหาธีร์

นักวิเคราะห์มองว่า อันวาร์ คาดการณ์ผิดพลาดและประเมินคนอย่าง มหาธีร์ ต่ำเกินไป ซึ่งทำให้ตัวเขาเองต้องถูกปลดจากเก้าอี้รองนายกฯ และถูกฝ่ายรัฐบาลตามไล่บี้ด้วยคดีคอร์รัปชันและข้อกล่าวหารักร่วมเพศ
กลุ่มผู้สนับสนุน โมฮัมหมัด ไซฟุล บุคอรี อัซลัน อดีตผู้ช่วยชายของอันวาร์ ออกมาแสดงพลังเรียกร้องให้ศาลตัดสินลงโทษผู้นำฝ่ายค้าน
หลังถูกจำคุกนาน 6 ปี อันวาร์ได้รับอิสรภาพอีกครั้งในปี 2004 หลังศาลยกเลิกข้อหารักร่วมเพศซึ่งทำให้เขาได้ออกมาใช้ชีวิตในฐานะนักวิชาการ

ต่อมาเขาตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลที่ได้แรงขับเคลื่อนมาจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเขา และใช้บารมีที่ตนสั่งสมมารวบรวมกลุ่มฝ่ายค้านที่แตกแยกและไร้อำนาจให้กลายมาเป็นพลังท้าทายที่น่าเกรงขามสำหรับรัฐบาลมาเลเซีย

ไม่กี่ปีมานี้ กลุ่มพันธมิตรปากาตันรักยัต (People’s Pact) ซึ่งประกอบด้วย 3 พรรคภายใต้การนำของ อันวาร์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อกลุ่มบีเอ็น และสามารถชนะป๊อบปูลาร์โหวตร้อยละ 52 ในศึกเลือกตั้งทั่วไป ปี 2013 แต่ก็ไม่สามารถครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาได้ เนื่องจากกลวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐบาลบีเอ็น (gerrymandering)

อันวาร์ ถูกมองว่าเป็น “กาวใจ” ที่ช่วยประสาน 3 พรรคฝ่ายค้านที่มีอุดมการณ์แตกต่างให้สามารถรวมตัวกันได้ โดยเฉพาะพรรคอิสลามิก PAS ที่ต้องการนำกฎหมายชารีอะห์เข้ามาใช้ในรัฐที่เป็นฐานเสียงของตน ในขณะที่อีก 2 พรรคแนวร่วมไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้

หลังจากที่ถูกฟ้องคดีตุ๋ยผู้ช่วยเป็นครั้งที่ 2 หลายคนเกรงว่าภาระและอุปสรรคที่ อันวาร์ ต้องเผชิญอาจหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่นักการเมืองผู้นี้จะรับไหว แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางกลุ่มชี้ว่า การจับ อันวาร์ เข้าคุกครั้งนี้เป็นความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกันสำหรับรัฐบาล นาจิบ ราซัก ซึ่งเคยพ่ายแพ้ป๊อปปูลาร์โหวตให้แก่ฝ่ายค้านมาแล้วเมื่อปี 2013

“คนในพรรคอัมโนตระหนักดีว่า การถูกจำคุกจะทำให้ อันวาร์ กลายเป็นผู้เสียสละ (martyr) เพื่อคนรุ่นใหม่ กระแสสนับสนุนฝ่ายค้านทั้งในและนอกประเทศจะเข้มแข็งขึ้น และชี้ให้เห็นด้วยว่ากลุ่มบีเอ็นอยู่ในสภาพอ่อนแอเพียงใดจึงจำเป็นต้องกำจัดเสี้ยนหนามด้วยวิธีเช่นนี้” บริดเจ็ต เวลช์ นักวิเคราะห์การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ระบุไว้ในบทความเมื่อไม่นานมานี้

พรรคอัมโนซึ่งผูกขาดอำนาจปกครองตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชในปี 1958 เริ่มที่จะสูญเสียคะแนนนิยมให้แก่กลุ่มปากาตันรักยัต ซึ่งประกาศจะขจัดความเป็นประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการและลัทธิทุนนิยมภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน พร้อมทั้งแก้ไขนโยบายเลือกปฏิบัติที่ทำให้พลเมืองมาเลย์มีสิทธิเหนือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในสังคม

กำลังโหลดความคิดเห็น