xs
xsm
sm
md
lg

เปรียบเทียบอำนาจของ ‘เหมาเจ๋อตง’ กับของ ‘สีจิ้นผิง’

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China's power disequilibrium
By Francesco Sisci
30/01/2015

เมื่อ 50 ปีก่อน จีนเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ไม่มีทั้งภาคประชาสังคม ไม่มีเศรษฐกิจแบบตลาด และไม่มีบริษัทธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นประเทศนี้ยังโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกเกือบสิ้นเชิง แต่มาถึงเวลานี้ จีนมีความแตกต่างไปจากตอนนั้นอย่างสุดขีด อีกทั้งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังต้องคำนึงถึงประชาคมระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม คำถามหนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ สี จิ้นผิง จะครองอำนาจไปยาวนานแค่ไหน? สิบปี หรือว่าตลอดชีพ?

ตอนที่ “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” (ปี1966-1976) สิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคครองอำนาจปกครองในประเทศจีน ต้องเผชิญกับปัญหาการดำรงคงอยู่ของตนปัญหาหนึ่ง การปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้น มีการกระทำที่เกินเลยสุดโต่งและก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักหน่วงรุนแรง แต่มันบังเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะ เหมา เจ๋อตง ผู้นำสูงสุดในเวลานั้น มีอำนาจอย่างชนิดไม่มีขอบเขตจำกัดเอาเลย เขาสามารถทำอะไรต่อประเทศจีนก็ได้ตามใจปรารถนาโดยแทบไม่ต้องเสียเวลาขบคิด สภาวการณ์ในตอนนั้นก็คือ บุคคลคนเดียวมีอำนาจรวมศูนย์อยู่ในมือมากเกินไป

หลังจาก เหมาถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 การวิเคราะห์ที่พรรคทำในตอนนั้นมีข้อสรุปว่า เหมา มีอำนาจมากเกินไปจนกระทั่งไร้ขีดจำกัด

อย่างไรก็ตาม พวกผู้นำจีนในรุ่นปลายทศวรรษ 1970 ก้าวขึ้นสู่อำนาจได้ ย่อมสืบเนื่องจากชัยชนะของ เหมา ในสงครามกลางเมืองที่สิ้นสุดลงเมื่อปี 1949 และการที่พวกเขาครองอำนาจอยู่ได้ก็เพราะพึ่งพาอาศัยโครงสร้างของพรรค ดังนั้น การที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆ เดียวมากเกินไป สามารถที่จะทำให้ประเทศจมถลำลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายก็จริงอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองอย่างรุนแรงก็จะเป็นภัยต่อการครองอำนาจของเหล่าผู้สืบช่วงต่อจากเหมา รวมทั้งเป็นไปได้ว่ายังจะเป็นอันตรายต่อความสมดุลอันบอบบางของสังคมและรัฐจีนในช่วงขณะทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งยวดในตอนนั้น กล่าวคือ ในขณะนั้นจีนกำลังแสดงบทบาทสำคัญในการสกัดกั้นภัยคุกคามต่อเอเชียของสหภาพโซเวียต ไม่นานนักหลังจากสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการขับไล่สหรัฐฯให้ออกไปจากเวียดนาม

เพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาทั้งสอง อันได้แก่ การป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายแบบการปฏิวัติทางวัฒนธรรมขึ้นมาอีกในอนาคต และการประคับประคองโครงสร้างทางอำนาจแบบเก่าเอาไว้ให้ได้ คณะผู้นำจีนก็ได้จัดวางระบบ “คณะผู้นำร่วม” ขึ้นมา

คณะผู้นำร่วมดังกล่าวนี้ แรกทีเดียวชี้นำโดย เติ้ง เสี่ยวผิง และสหายในรุ่นใกล้ๆ กับเขากลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ดี หลังจากเวลาผ่านไปพักหนึ่ง บุคคลเหล่านี้ซึ่งทั้งหมดต่างอยู่ในวัย 70 เศษๆ ก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีแรงพอที่จะบริหารจัดการประเทศ และจึงได้จัดตั้งระบบที่ให้พวกผู้นำที่ยังแข็งแรงอยู่เป็นผู้รับผิดชอบงานวันต่อวัน ในตอนต้นทีเดียว หัวหน้าของกลุ่มผู้นำที่รับผิดชอบงานวันต่อวันนี้คือ หู เย่าปัง หลังจากปี 1986 แล้ว ก็เป็น เจ้า จื่อหยาง และถัดจากกรณีเทียนอันเหมินในปี 1989 หัวหน้าของกลุ่มนี้จึงเป็น เจียง เจ๋อหมิน

เติ้ง เสี่ยวผิง และสหายรุ่นใกล้ๆ กันของเขา ถึงแม้ถอยออกมาอยู่ตรงแถวสองแล้ว ก็ยังคงมีความรับผิดชอบสูงสุดในการชี้นำประเทศชาติ มีการวางระบบซึ่งในทางเป็นจริงแล้วเปิดทางให้ เติ้ง และเหล่าสหายของเขามีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจต่างๆ ของเลขาธิการใหญ่ของพรรคได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้นำอาวุโสเหล่านี้ยังคงกระตือรือร้นในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้ดำเนินไปในทิศทางที่พวกตนเห็นว่าเหมาะสม ระบบดังกล่าวนี้โดยข้อเท็จจริงแล้วยังคงดำเนินต่อมาในตอนที่ เจี้ยง เจ๋อหมิน สละตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคและประธานาธิบดีของประเทศให้แก่ หู จิ่นเทา

เรายังไม่ทราบชัดเจนว่า ในช่วงรอยต่อระหว่าง เจียง เจ๋อหมิน กับ หู จิ่นเทา นั้น ในหมู่ผู้นำรุ่นอาวุโสกับผู้นำรุ่นใหม่ มีกลวิธีในการใช้อำนาจยับยั้งนี้กันอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ จากทศวรรษ 1980 จนถึงกลางทศวรรษ 1990 เจียง กับ สหายในรุ่นของเขา ยังคงอยู่ในสภาพกึ่งเกษียณอายุ และมีความรับผิดชอบทำนองเดียวกับของเติ้งและสหายของเขาก่อนหน้านี้

ระบบดังกล่าวนี้ได้สร้างคณะผู้นำร่วมขึ้นมา ซึ่งป้องกันไม่ให้มีการรวมศูนย์อำนาจอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยของเหมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมา กลวิธีเช่นนี้ก็ทำให้กระบวนการตัดสินใจของประเทศจีนเป็นไปอย่างอุ้ยอ้ายเทอะทะ พวกผู้นำทั้งที่เกษียณอายุแล้วและที่ยังไม่ปลดเกษียณ ต่างสามารถปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์พิเศษของพวกเขาซึ่งเกิดขึ้นจากระบบที่ดำรงอยู่ และในทางเป็นจริงแล้ว พวกเขาถึงขนาดสามารถที่จะลบล้างระเบียบกฎเกณฑ์ทุกๆ อย่าง ทั้งๆ ที่ระเบียบกฎเกณฑ์เหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบเศรษฐกิจตลาดที่มีเสถียรภาพ

ดังนั้น การจัดการทางการเมืองเช่นนี้จึงก่อให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ที่หากินจากระบบที่เป็นอยู่ และพวกเขาก็พากันผลักดันวาระของพวกเขาโดยไม่เคารพกฎเกณฑ์ของตลาด และสร้างมลพิษให้แก่บรรยากาศทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ บริษัททั้งหลายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เนื่องจากคุณสมบัติในตลาดของพวกเขา หากขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเข้าไปอยู่ใต้ร่มธงทางการเมืองที่ถูกต้อง หรือไปเลือกอยู่กับฝ่ายที่กลายเป็นฝ่ายไม่ถูกต้อง

สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าหากยังคงดำเนินต่อไปเป็นเวลายาวนานแล้ว ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจของจีนพลิกคว่ำตกรางอย่างสมบูรณ์

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เวลานี้ได้ทำลายแบบแผนทางการเมืองแบบเก่าเช่นนี้ ถึงแม้เขายังคงอยู่ภายในกรอบโครงซึ่งรับสืบทอดจากพวกผู้นำรุ่นก่อนหน้าเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดให้โครงสร้างของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด เวลานี้ สีไม่ได้รับคำสั่งจากพวกผู้นำรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็น เจียง เจ๋อหมิน หรือ หู จิ่นเทา และจากการกระทำเช่นนี้ เขาก็กำลังตัดโซ่ตรวนทางการเมืองเก่าๆ ทั้งหมด ซึ่งกำลังเป็นภัยอันตรายต่อการพัฒนาของประเทศจีน

พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขา (ซึ่งบ่อยครั้งมาจากกลุ่มผู้มีผลประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ และถูกการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นของ สี เล่นงานปราบปราม) ร้องเรียนว่าเวลานี้ประธานาธิบดีผู้นี้มีอำนาจมากเกินไป, ว่าอำนาจของเขาไม่มีขีดจำกัดกันเลย, และว่ามันอาจจะก่อให้เกิดสถานการณ์อย่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมาขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม เปรียบเทียบช่วงปัจจุบันกับเมื่อ 40-50 ปีก่อนแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างมหาศาล

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว จีนเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ไม่มีทั้งภาคประชาสังคม ไม่มีเศรษฐกิจแบบตลาด และไม่มีบริษัทธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นประเทศนี้ยังโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ เหมานอกจากกำลังควบคุมพรรคเอาไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จแล้ว เขายังไม่ต้องแยแสคำนึงถึงเรื่องการประคับประคองเศรษฐกิจแบบตลาด หรือปฏิกิริยาจากประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย นี่จึงทำให้อำนาจที่เขามีอยู่ในยุคสมัยนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะจินตนาการได้ว่าล้นฟ้าล้นแผ่นดินขนาดไหน ประเทศจีนในเวลานี้มีความแตกต่างจากเวลานั้นอย่างสุดขีด เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ประมาณหนึ่งล่ะ ที่ สี จิ้นผิง ยังต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ

การคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศนี้ กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบัน จีดีพีของจีนถึงราว 40% ทีเดียว สร้างขึ้นมาจากการค้าต่างประเทศ ยิ่งกว่านั้น ภายในประเทศจีนเอง ก็มีเศรษฐกิจแบบตลาดที่แสนจะมีชีวิตชีวา มีวิสาหกิจจำนวนนับหมื่นนับแสนรายซึ่งอาจจะมีผลประกอบการอย่างย่ำแย่หรืออย่างดีเยี่ยม ขึ้นอยู่กับนโยบายต่างๆ ที่ทางการกำหนดออกมา ทั้งนี้นโยบายของ สี ในปัจจุบันได้แก่การจำกัดและทัดทานอำนาจของพวกรัฐวิสาหกิจ และเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่วิสาหกิจภาคเอกชนมากขึ้น

แม้แต่ระเบียบกฎเกณฑ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากในเวลานั้น เป็นต้นว่า ในตอนนี้ระหว่างศูนย์กลางพรรคกับสาขาพรรคในท้องถิ่นต่างๆ , ระหว่างทบวงกรมกองต่างๆ ของพรรค ต่างมีปฏิสัมพันธ์มีพลวัตที่สลับซับซ้อน พูดง่ายๆ ก็คือ สังคมจีนได้วิวัฒนาการไปมากมายมหาศาลแล้วนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลุกฮือทางสังคมที่มีผู้คนเข้าร่วมอย่างมหาศาลจนกระทั่งถึงขั้นล้มคว่ำพรรคคอมมิวนิสต์ลงไปนั้น ได้ถูกตัดทอนขจัดไปอย่างมากมายแล้ว

ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจตลาด หรือ การเมืองภายในประเทศและการเมืองภายนอกประเทศ ต่างมีปัจจัยที่คอยขัดแย้งและเกื้อหนุนกันอยู่ภายใน และกลายเป็นสิ่งที่คอยจำกัดอำนาจของ สี จิ้นผิง เอาไว้ในทางพฤตินัย อย่างชนิดที่ เหมา ไม่เคยต้องเผชิญ ยิ่งกว่านั้นประเด็นเรื่องการตรวจสอบทัดทานการใช้อำนาจ ยังกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาในตอนนี้ เนื่องจาก สี เสนอแนวความคิดในเรื่อง “หลักนิติธรรม” หรือการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด

ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองควรที่จะขึ้นต่อหลักนิติธรรมด้วยหรือไม่ และหากถือว่าต้องอยู่ใต้หลักการนี้ด้วยแล้ว การขึ้นต่อนี้จะอยู่ในระดับแก่อ่อนมากน้อยแค่ไหน แต่กระนั้นก็ตาม การที่ในยุคของ สี จิ้นผิง มีทั้งการเชิดชูหลักการเรื่องการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นหลักสูงสุด และก็มีความจำกัดในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เหล่านี้มองกันในเชิงทฤษฎีแล้ว ก็ดูจะทรงประสิทธิภาพในการทัดทานการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป ยิ่งเสียกว่าหลักการเรื่องคณะผู้นำร่วม ในสมัยของ เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยซ้ำ

แต่ถึงแม้เราสามารถกล่าวเช่นนี้ได้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สี จิ้นผิง กำลังอยู่ในฐานะที่ปราศจากความเสี่ยงใดๆ เลย แท้ที่จริงแล้วยังคงมีความเสี่ยงที่เขาจะรวบอำนาจมารวมศูนย์เอาไว้ที่ตัวเขามากเกินไปอยู่นั่นเอง และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็อาจทำให้ สี ถูกปิดหูปิดตาโดยพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นที่นิยมโปรดปรานของเขา เราจะต้องตระหนักว่าในระบบที่มีการรวมศูนย์อำนาจนั้น พวกเจ้าหน้าที่ระดับล่างๆ ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะพูดจะรายงานแต่สิ่งซึ่งจะเป็นที่พออกพอใจของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ เนื่องจากทราบดีว่าตำแหน่งและความก้าวหน้าของพวกเขานั้น ต้องขึ้นอยู่กับความนิยมโปรดปรานของผู้บังคับบัญชา

สภาพเช่นนี้ย่อมสามารถทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้นำสูงสุดได้รับรายงานที่ผิดพลาด หรือไม่ได้รับรายงานใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นในประเทศ และรายงานที่ผิดพลาดหรือการไม่ได้รายงานนี่แหละ ก็จะกลายเป็นพื้นฐานให้ผู้นำทำการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างยิ่งออกมา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคำถามอีกข้อหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ สี จิ้นผิง จะอยู่ในอำนาจเป็นเวลานานแค่ไหน? เขาจะอยู่ในอำนาจ 10 ปี หรือ 15 ปี หรือครองอำนาจไปตลอดกาล – ตลอดชีวิตของเขา?

การรวมศูนย์อำนาจ เมื่อบวกกับการขยายระยะเวลาแห่งการรวมศูนย์อำนาจนี้ให้ยืดยาวออกไป มันก็จะกลายเป็นสูตรที่จะทำให้เกิดความหายนะขึ้นมาได้ ความยากลำบากต่างๆ ที่รัสเซียเผชิญอยู่ในเวลานี้ อาจจะเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า วลาดิมีร์ ปูติน ครองอำนาจมาอย่างยาวนานเกินไป กระทั่งสูญเสียความสามารถที่จะทำความเข้าใจ และเกาะกุมสภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองระดับชาติเอาไว้อย่างกระจ่างแจ่มแจ้งได้ อย่างไรก็ดี ในประเทศจีนนั้น สำหรับในระยะสั้นแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับกลุ่มซึ่งได้ผลประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่จนทำให้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงปฏิรูป ตลอดจนเหล่าผู้นำระดับสูงที่เป็นผู้อุปถัมภ์กลุ่มเหล่านี้ และจะทำเช่นนี้ได้ จีนจำเป็นที่จะต้องรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ในกำมือของ สี จิ้นผิง หากไม่ทำอย่างนี้แล้ว กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ตลอดจนผู้อุปถัมภ์ของพวกเขา ก็จะใช้กำลังภายในเข้าก่อกวนขัดขวางพลังของตลาดอย่างแน่นอน

ข้อเท็จจริงที่ว่าสมดุลทางการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดย เติ้ง และสหายของเขาเมื่อ 40 ปีก่อน จำเป็นที่จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงยกเครื่องกันอย่างขนานใหญ่ในเวลานี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบบที่อยู่เบื้องลึกลงไปในปัจจุบัน ก็มีความผิดพลาดไม่ถูกต้อง และในระยะยาวแล้วจะไม่สามารถดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ถ้าไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตจริงจัง

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ทำงานอยู่กับ ศูนย์เพื่อยุโรปศึกษา (Center for European Studies) ของ มหาวิทยาลัยประชาชน (People's University) ในกรุงปักกิ่ง ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในที่นี้เป็นของตัวเขาเอง และมิได้มีความเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับที่ทำงานของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น