xs
xsm
sm
md
lg

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคง ‘ตามหลอกหลอน’ อนาคตของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

World War II haunts Japan's future
By Francesco Sisci
26/11/2014

มีจังหวะก้าวเดินจำนวนหนึ่งซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าหากโตเกียวนำเอามาใช้พร้อมๆ กัน จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูฐานะความสำคัญของตนในเอเชียและดำเนินการปิดล้อมจีนอย่างเป็นผล ทว่าจังหวะก้าวเดินเหล่านี้จะต้องเกี่ยวข้องกับการทำความตกลงเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะจำนวนหนึ่งกับเกาหลี, รัสเซีย, และไต้หวัน รวม ทั้งจะแตะต้องกระทบกระเทือนถึงอารมณ์ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคุกรุ่นอยู่ภายในใจของพวกชนชั้นนำชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากโตเกียวยังคงไม่สามารถหาวิธีที่จะปลดตนเองให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งดังกล่าวนี้แล้ว ภาระอันหนักอึ้งจากประวัติศาสตร์ก็จะพาให้อนาคตของญี่ปุ่นต้องจมดิ่ง

ปักกิ่ง - การที่เราจะทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า ญี่ปุ่นกำลังคิดอะไรอยู่ หรือญี่ปุ่นตั้งใจที่จะทำอะไรอยู่ นับว่าเป็นเรื่องลำบากยากเย็นมาก ถ้าหากไม่ถึงขนาดแทบเป็นไปไม่ได้เอาเลย ทั้งนี้แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่เงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวยสุดๆ อย่าว่าแต่ในปัจจุบันนี้เลย กระนั้นก็ตามที ถ้าหากผมเป็นคนญี่ปุ่น และมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการก้าวผงาดขึ้นมาของปักกิ่งแล้ว ผมก็จะลงมือใช้นโยบายการปิดล้อมอย่างง่ายๆ ธรรมดาๆ เพื่อฟื้นฟูฐานะความสำคัญของญี่ปุ่นในเอเชีย

เพื่อดึงให้เกาหลีหันมาเข้าข้างผม ผมจะสร้างอนุสาวรีย์แห่งหนึ่งขึ้นที่ใจกลางกรุงโตเกียว เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงผู้รักชาติชาวเกาหลีในสงครามต่อต้านการรุกรานยึดครองของญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความรู้สึกแย่ๆ ทั้งหลายเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา และทำให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีหันมารวมศูนย์ให้ความสนใจเกี่ยวกับศักยภาพความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ในอนาคตร่วมกัน

เพื่อดึงดูดรัสเซีย ผมจะสละยกเลิกการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะคูริล (Kuril Islands) ซึ่งถึงอย่างไรก็ตกอยู่ในความครอบครองของมอสโกอยู่แล้ว ผมยังจะยอมยกหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ (Senkaku-Diaoyu islands) ให้แก่ไต้หวัน –นี่ก็เพื่อดึงไทเปให้เข้ามาใกล้ชิดกับโตเกียวมากขึ้น และทำให้ไทเปเหินห่างจากปักกิ่งมากขึ้นด้วย การมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีขึ้นกับไต้หวันสืบเนื่องจากข้อตกลงเรื่องเซงกากุ น่าจะทำให้เกิดความร่วมมือกันทางทะเลอย่างใหญ่โตยิ่งขึ้นได้

ผมยังสามารถที่จะลงนามในข้อตกลงร่วมมือทางด้านความมั่นคงกับเกาหลีใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องพาดพิงถึงเกาหลีเหนือและจีนอีกด้วย เวลาเดียวกันนั้น ก็สามารถทำข้อตกลงกับรัสเซียว่าด้วยการขุดค้นพัฒนาทรัพยากรต่างๆ ในไซบีเรีย และถัดจากนั้นกิจการร่วมของฝ่ายรัสเซียและฝ่ายญี่ปุ่น ก็สามารถที่จะขายและใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อการต่อรองกับจีน

ทว่าญี่ปุ่นไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้แม้สักเรื่องเดียว ในทางเป็นจริงแล้ว นักการเมืองชาวญี่ปุ่นไม่อาจที่จะทำสิ่งเหล่านี้แม้สักเรื่องหนึ่งได้หรอก เพราะมันขัดแย้งอย่างแรงกับทัศนะมุมมองว่าด้วยประวัติศาสตร์ของพวกเขา โดยส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ –อารมณ์ความรู้สึกที่ว่าญี่ปุ่นได้รับความอยุติธรรม จากการที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง “โดยยังไม่มีข้อสรุป”

ญี่ปุ่นนั้นยอมรับว่าตนเองปราชัยฝ่ายอเมริกัน ทว่าไม่ได้พ่ายแพ้รัสเซีย, จีน, หรือ เกาหลี อารมณ์ความรู้สึกที่ว่าตนไม่ได้ประสบความปราชัยในเอเชียเช่นนี้ คือส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของบุคลิกภาพแบบญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อบทบาทใดๆ ก็ตาม ที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะแสดงอยู่ในทวีปนี้ในอนาคต

สำหรับในส่วนของสหรัฐฯนั้น ลุงแซมเองก็กำลังสกัดกั้นขัดขวางไม่ให้ญี่ปุ่นสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เนื่องจากวิตกกริ่งเกรงถึงสิ่งที่แดนอาทิตย์อุทัยอาจจะสร้างขึ้นมาได้ในเอเชีย ถ้าหากไม่ได้ถูกผูกมัดจองจำด้วยอดีตของตนเอง ครั้นเมื่อเรานำเอาความคิดของญี่ปุ่นและของสหรัฐฯมามองต่อเนื่องกันเป็นภาพรวม สิ่งที่ปรากฏออกมาก็คือญี่ปุ่นกับสหรัฐฯนั้นไม่ได้มีความรู้สึกเป็นปรปักษ์กับจีนอย่างลึกซึ้งแท้จริงหรอก หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ได้เป็นปรปักษ์ถึงขนาดที่ผมสมมุติว่าผมมีอยู่ ถ้าหากว่าผมบังเอิญเป็นคนญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ญี่ปุ่นมีอยู่กับจีน, รัสเซีย, และเกาหลี ในปัจจุบัน ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า แดนอาทิตย์อุทัยไม่ได้มีความตระหนักว่า ภาระทางประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นแบกรับอยู่ กำลังส่งผลมากมายขนาดไหน ต่อบทบาทของตนเองในเอเชียในอนาคต ทั้งๆ ที่เรื่องอนาคตของตนในทวีปนี้ในกาลข้างหน้านี่แหละ เป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่มหึมาที่กำลังแขวนอยู่เหนือโตเกียว

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นได้กลายเป็นฐานรองรับอันสำคัญมากสำหรับให้สหรัฐฯสามารถที่จะกระโดดโลดเต้นไปในเอเชีย แต่ฐานะดังกล่าวได้ลดคุณค่าลงไปมากแล้ว ในเวลาเดียวกับที่อเมริกาก็ยังมีหุ้นส่วนรายสำคัญอื่นๆ อยู่อีกในทวีปนี้ และถึงแม้โตเกียวยังคงเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทอย่างมาก น้ำหนักอิทธิพลของตัวแสดงตัวนี้ก็จะลดทอนลงอยู่ดี ภายในภาพใหญ่ภาพรวมของเอเชียซึ่งกำลังผงาดโดดเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพยายามที่จะเป็นตัวแกนหลักของกลุ่มที่อาจจะเรียกว่า “สามเหลี่ยมต่อต้านจีน” ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย, เวียดนาม, และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี สามเหลี่ยมดังกล่าวนี้ไม่ได้เคยถือกำเนิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเลย เนื่องจากอินเดียกับเวียดนามนั้น ขณะที่มีความผิดแผกข้องใจกับจีนอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีความปรารถนาที่จะขายตนเองให้แก่ผู้ที่เสนอราคาประมูลสูงสุด กลุ่มสามเหลี่ยมใหม่เช่นนี้ไม่ได้ทำให้การวางนโยบายต่างๆ ในเอเชียเป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น ตรงกันข้ามในทางเป็นจริงแล้วมันกลับยิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนให้แก่ภูมิทัศน์ทางการเมืองของภูมิภาคแถบนี้ด้วยซ้ำ

ปุจฉาอีกข้อหนึ่งซึ่งควรที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้มาก ได้แก่คำถามที่ว่า จีนสามารถช่วยญี่ปุ่นในการค้นหาอนาคตใหม่ให้แก่ตนเองนี้หรือไม่? การที่โตเกียวยังคงติดแน่นจมอยู่กับการปฏิเสธไม่ยอมรับผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจทำให้แดนอาทิตย์มีความโน้มเอียงที่จะแสดงพฤติการณ์บ้าบอต่างๆ ได้ทุกๆ ชนิด ดังนั้นจีนจึงควรถือว่า การช่วยเหลือให้ญี่ปุ่นค้นพบชะตาชีวิตใหม่ของตน คือผลประโยชน์ของแดนมังกรเองด้วย เรื่องนี้ต้องจัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในเมื่อนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะกระชับฐานทางการเมืองของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ถึงแม้นโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) ของเขา กำลังถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพในการขับดันเศรษฐกิจแห่งชาติให้กลับคึกคักเข้มแข็งอีกครั้ง ถึงอย่างไรญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นฐานสำคัญและยังคงเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในเอเชีย และสิ่งนี้อาจจะมีความสำคัญอันใหญ่หลวงสำหรับอนาคตของภูมิภาคนี้โดยรวม

ยิ่งกว่านั้น เราต้องไม่ลืมว่าแดนอาทิตย์อุทัยคือประเทศที่วัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกสามารถอยู่ด้วยกันและสอดประสานกันได้อย่างงดงาม จนอาจจะถือเป็นแบบอย่างแบบหนึ่งสำหรับประเทศเอเชียอื่นๆ –รวมทั้งประเทศจีนเองด้วย ดังที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นก็คงตระหนักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ประเทศจีนกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมหาศาลและอย่างรวดเร็วยิ่ง ระยะเวลาประมาณ 1 ศตวรรษมานี้ เอเชียในทางเป็นจริงถูกแบ่งออกเป็น 2 อนุทวีป หนึ่งนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่จีน ส่วนอีกอนุทวีปหนึ่งศูนย์กลางอยู่ที่อินเดีย และก็มีพื้นที่ตรงกลางๆ 2 บริเวณ ซึ่งอนุทวีปทั้ง 2 นี้แตะเชื่อมผสมผสานกันและกัน ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับ เอเชียกลาง-เหนือ

สงครามเย็นที่เกิดขึ้นหลายสิบปีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีส่วนสำคัญในการทำให้การแบ่งแยกนี้ดำเนินต่อเนื่องต่อไปอีก ด้วยการที่ส่วนต่างๆ ของทวีปเอเชียไปผูกพันเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจคนละฝ่าย อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ด้วยปัจจัยทางด้านการพัฒนาประเทศ, ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านการคมนาคมขนส่ง สภาพที่ทวีปนี้เกิดการแบ่งแยก รวมทั้งการแยกออกเป็น 2 อนุทวีป ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ญี่ปุ่นสามารถที่จะแสดงตนเป็นแบบอย่างของการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีและทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกกับเอเชียได้หรือไม่? จีนสามารถที่จะมองญี่ปุ่นในมิตินี้ได้หรือไม่ เพราะอันที่จริงแล้วก็เป็นมุมมองเดียวกับที่ชาวจีนจำนวนมากมองญี่ปุ่นในสมัยทศวรรษ 1920 และ 1930? แน่นอนทีเดียว นี่คือคำถามสำหรับอาเบะและทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา ทว่าบางทีมันก็อาจจะเป็นคำถามสำหรับพวกผู้นำจีนด้วย

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสที่ทำงานอยู่กับ ศูนย์เพื่อยุโรปศึกษา (Center for European Studies) ของ มหาวิทยาลัยประชาชน (People's University) ในกรุงปักกิ่ง ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในที่นี้เป็นของเขาเอง และมิได้มีความเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับที่ทำงานของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น