เอเอฟพี - สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ระบุว่า ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอชี้ว่า ซัลกิฟลี บิน ฮีร์ มือระเบิดชาวมาเลเซีย ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่ง น่าจะถูกปลิดชีพระหว่างปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายเมื่อเดือนที่แล้ว ที่คร่าชีวิตตำรวจคอมมานโดไป 44 นาย
ทั้งนี้ ซัลกิฟลี หรือ มาร์วัน คือเป้าหมายหลักในการดำเนินปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายที่เมืองมามาซาปาโน อันห่างไกลบนเกาะมินดาเนา ทางใต้ของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา
ซัลฟิกลี ซึ่งเป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มก่อการร้าย “เจมาห์ อิสลามิยาห์” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในเหตุระเบิดไนท์คลับบนเกาะบาหลีเมื่อปี 2002 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 คน ตลอดจนเหตุระเบิดอีก 2 ครั้งในฟิลิปปินส์
เดวิด โบว์ดิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเอฟบีไอ ประจำลอสแองเจลิสระบุในคำแถลงที่เอเอฟพีได้รับในวันนี้ (5) ว่า สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ได้ตรวจสอบตัวอย่างทางชีวภาพจากศพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแดนตากาล็อกระบุว่า เป็นซัลกิฟลีแล้ว
เขากล่าวว่า “ดังที่เราได้รายงานไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของฟิลิปปินส์ว่า ผลตรวจเบื้องต้นชี้ว่า แบบแผนสารพันธุกรรม (DNA profile) ที่ได้จากตัวอย่างทางชีวภาพแสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ดีเอ็นเอจากศพมีความเชื่อมโยงกับดีเอ็นเอของญาติซัลกิฟลี”
“แม้ว่าผลตรวจดีเอ็นเอจะไม่สามารถระบุอัตลักษณ์บุคคลได้แน่ชัด แต่ผลที่ได้ก็สนับสนุนตัวอย่างทางชีวภาพจากมาร์วัน ที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฟิลิปปินส์ส่งมาให้” โบว์ดิชกล่าว พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า จะมีการตรวจสอบต่อไปในภายหลัง
เมื่อสอบถามถึงรายงานของสหรัฐฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ เลโอนาร์โด เอสปีนา กล่าวว่า รัฐบาลจะออกคำแถลงเกี่ยวกับประเด็นนี้ในอีกไม่ช้า
หากสามารถยืนยันได้ว่า มาร์วันถูกสังหารแล้วจริง ก็จะกลายเป็นแรงสนับสนุนให้ประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน ในยามที่ผู้นำแดนตากาล็อกกำลังถูกรุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง จากกรณีที่รัฐบาลไม่ได้ประสานกับกลุ่มกบฏตามกำหนดในข้อตกลงหยุดยิง เป็นผลให้ภารกิจผิดพลาดจนตำรวจถูกสังหารไปเป็นจำนวนมาก
ตำรวจหน่วยรบพิเศษเกือบ 400 นายถูกกลุ่มกบฏมุสลิมอย่างน้อยสองกลุ่มโจมตี หลังการนำกำลังเข้าสังหารชายที่เชื่อกันว่าคือ ซัลกิฟลี ระหว่างบุกทลายแหล่งกบดานในไร่เกษตรอันห่างไกลและเป็นหนองน้ำ บนเกาะมินดาเนา ของฟิลิปปินส์
เอสปินาระบุว่า กำลังพลของเขาถูกซุ่มโจมตีโดยกบฏอย่างน้อย 2 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่ม “แนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร” (MILF) ซึ่งร่วมลงนามข้อตกลงสันติภาพกับมะนิลาเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า มีการฉกฉวยอาวุธ เครื่องแบบ และของมีค่าไปจากศพของเจ้าหน้าที่บางนายด้วย
เหตุนองเลือดครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดข้อกังขาถึงการทำข้อตกลงสันติภาพ ที่มะนิลาให้คำมั่นจะอนุมัติกฎหมายมอบอำนาจปกครองตนเองแก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกแห่งนี้
นับตั้งแต่เกิดการลุกขึ้นก่อกบฏตั้งแต่เมื่อหลายทศวรรษก่อน ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 120,000 คน ทั้งยังฉุดให้ชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ต้องประสบปัญหาความยากจน