xs
xsm
sm
md
lg

ว่าที่บอสเพนตากอนชี้! สหรัฐฯ ต้องเตือนรัสเซียว่า “สนธิสัญญาควบคุมอาวุธ” ต้องทำตามทั้งสองฝ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แอชตัน คาร์เตอร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่
รอยเตอร์ - ผู้ที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เลือกให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) คนต่อไปออกมากล่าวเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ว่า รัสเซียจำเป็นต้องถูกเตือนความจำว่าสนธิสัญญาควบคุมอาวุธยุคสงครามเย็นเป็น “สิ่งที่จะทำอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้” และระบุว่าวอชิงตันควรตอบสนองต่อทุกๆ การละเมิด

วอชิงตันและมอสโกต่างตั้งแง่ต่อพันธะผูกพันที่อีกฝ่ายหนึ่งมีต่อสนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง (INF) มายาวนาน โดยสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ทำให้จรวดร่อน (cruise missile) ประเภทยิงจากภาคพื้นดิน ที่มีพิสัยทำการ 500-5,500 กิโลเมตร ทั้งแบบที่ติดตั้งและแบบที่ไม่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ถูกกำจัดหมดไปในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามเย็น

แอชตัน คาร์เตอร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งคาดว่าจะได้รับการรับรองจากวุฒิสภาอย่างรวดเร็ว กล่าวว่า สหรัฐฯ มีขอบเขตในการดำเนินการที่สามารถเลือกใช้ได้ รวมถึงมาตรการป้องกันและขัดขวาง หากรัสเซียละเมิดสนธิสัญญา

“ผมคิดว่าคุณต้องเตือนรัสเซียว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสิ่งที่จะทำอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้” คาร์เตอร์กล่าวในการไต่สวนรับรองตัวเขาของวุฒิสภา

“หากคุณไม่ต้องการมีสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว คุณก็ควรพิสูจน์ตัวเองว่าคุณไม่ได้ละเมิดข้อกำหนดในสนธิสัญญาฉบับนั้น และทางเราก็จะทำเช่นนั้นด้วย”

สหรัฐฯ เคยระบุว่า การทดสอบจรวดร่อนประเภทยิงจากภาคพื้นดินของรัสเซียละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง (INF) ปี 1987 ด้านรัสเซียโต้แย้งว่า การใช้โดรนของและอาวุธพิสัยกลางอื่นๆ ของวอชิงตันก็เทียบเท่ากับการละเมิด

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้อยู่ในช่วงตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น เพราะบทบาทของรัสเซียในวิกฤตยูเครน คาร์เตอร์ยังกล่าวในการไต่สวนด้วยว่า เขากำลังเอนเอียงเห็นชอบกับการติดอาวุธให้ยูเครนเพื่อป้องกันตนเองจากกลุ่มบางแยกดินแดนที่มีรัสเซียคอยหนุนหลัง ความเคลื่อนไหวซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเตือนทิ้งท้ายว่าเป้ามายจะต้องยังคงอยู่ที่การกดดันรัสเซียทางเศรษฐกิจและการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น