เอเอฟพี - อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวเต็งเบอร์หนึ่ง ที่จะมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต่อจาก ชัค เฮเกล ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้มีคุณสมบัติ แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับเอเอฟพีวานนี้ (25 พ.ย.)
มิเชล ฟลอร์นอยวัย 53 ปีถูกมองว่า เป็นตัวเต็งสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และหากเธอตอบตกลง ฟลอร์นอย ก็จะกลายเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ฟลอร์นอย ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสามของเพนตากอน ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการของศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกา (CNAS) ซึ่งเป็นสถาบันที่เธอเป็นทั้งผู้นำและผู้ก่อตั้ง เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะไม่รับตำแหน่งนี้
แหล่งข่าว ซึ่งไม่เปิดเผยนามระบุว่า “ผมขอยืนยันว่า เธอได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ CNAS เพื่อแจ้งว่า เธอไม่ขอลงแข่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม”
แหล่งข่าวบอกว่า ได้ยก “เรื่องครอบครัว” เป็นเหตุผลในการปฏิเสธ
การที่ ฟลอร์นอย ขอถอนตัวจากตำแหน่งนี้ อาจทำให้ประธานาธิบดี บารัค โอบามาต้องประสบปัญหาน่าปวดหัว ในยามที่เขากำลังเฟ้นหาตัวผู้มีคุณสมบัติ ที่จะต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน
เมื่อ ฟลอนอยร์ ปฏิเสธตำแหน่งนี้ ทุกสายตาก็จะหันไปจับจ้องตัวเต็งอีกคนคือ แอชตัน คาร์เตอร์ นักวิชาการที่พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสองของเพนตากอน ทั้งนี้ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณ และยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง
ฟอเรนโพลิซี รายงานว่า หนังสือที่ ฟลอร์นอยส่งถึงคณะกรรมการของ CNAS ระบุคำพูดของเธอ ที่ระบุว่า “เมื่อคืนดิฉันได้พูดคุยกับประธานาธิบดี โอบามา และขอถอนตัวจากการเป็นผู้มีคุณสมบัติ เนื่องจากดิฉันมีภาระครอบครัว”
รายงานของนโยบายการต่างข่าวของ ฟอเรนโพลิซี ชี้ว่า ฟลอร์นอยบอกกรรมการว่า ปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัวทำให้เธอตัดสินใจขอถอนตัว ตลอดจนเรื่องที่ลูกสองคนของเธอกำลังจะออกจากบ้านไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในอีก 2 ปีข้างหน้า
วานนี้ (25) โอบามาได้ประกาศการลาออกของเฮเกล โดยเจ้าหน้าที่ชี้ว่า อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้นี้ได้ก้าวลงจากตำแหน่งเนื่องจากถูกกดดันหนัก ในช่วงที่รายงานมีออกมาว่า ประธานาธิบดี และผู้ช่วยระดับสูงบางคนสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเฮเกล
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนต่อไปของแดนอินทรีจะต้องเผชิญกับภาระหน้าที่ที่น่าหวาดหวั่น ซึ่งก็คือภารกิจโจมตีกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ทางอากาศในอิรักและซีเรีย ในช่วงที่แผนยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโอบามากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ