เอเจนซีส์ - ขบวนรถไฟชานเมืองที่เต็มไปผู้โดยสารเต็ม พุ่งเข้าชนรถเอสยูวี “จี๊ป เชอโรกี” ซึ่งติดอยู่บนรางนอกนครนิวยอร์ก ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเย็นวันอังคาร (3 ก.พ.) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บอีกสิบกว่าคน และผู้โดยสารหลายร้อยคนกระเสือกกระสนหนีตายอุตลุด ขณะที่ไฟลุกท่วมทั้งหัวรถจักรและรถเอสยูวี
เบื้องต้นแอนดริว คูโอโม ผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์ก แถลงว่า คนขับรถจี๊ปเชอโรกี และผู้โดยสารรถไฟ 6 คนในตู้โดยสารตู้แรกเสียชีวิต เมื่อรถไฟพุ่งชนรถเอสยูวีคันนี้อย่างจังในเวลาประมาณ 18.30 น. จนทำให้เกิดระเบิดและไฟลุกไหม้ แรงกระแทกยังทำให้รางที่สามซึ่งมีสายไฟฟ้าเกิดการงอตัวและพุ่งเสียบทะลุตลอดตู้รถไฟตู้แรก
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา คูโอโม ปรับลดยอดผู้เสียชีวิตเหลือ 6 คน “จำนวนผู้เสียชีวิตในรถไฟลดจาก 6 เหลือ 5 คน คนขับก็เสียชีวิตด้วย เรามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน ในนั้น 7 คนอาการสาหัสมาก”
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในย่านวัลฮัลลา ห่างจากทางเหนือของนิวยอร์ก ซิตี้ 32 กิโลเมตร หลังจากรถไฟสายเมโทร-นอร์ธ เรลโรด ซึ่งมุ่งหน้าสู่ชานเมืองทางเหนือ แล่นออกจากสถานีแกรนด์ เซนทรัลในแมนฮัตตันได้ราว 45 นาที ทั้งนี้นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้บาดเจ็บที่อาการสาหัสอย่างน้อย 12 คน ถือเป็นอุบัติเหตุทางรถไฟที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐฯ
แอรอน โดโนแวน โฆษกสำนักงานขนส่งมวลชนมหานครนิวยอร์ก (เอ็มทีเอ) แถลงว่า ไม้กั้นทางรถไฟเคลื่อนลงมากดหลังคารถเอสยูวีทำให้เคลื่อนออกจากรางไม่ได้ คนขับซึ่งเป็นผู้หญิงได้ลงมาดูที่ท้ายรถและกลับขึ้นไปนั่งบนรถขณะเดียวกับที่รถไฟพุ่งเข้าชนด้วยความเร็ว
รถไฟดันรถเอสยูวีไปไกลเป็นระยะทางราว 10 ตู้โดยสาร ควันพวยพุ่งจากหัวขบวนรถและกระจกหน้าต่างแตกกระจาย
ขณะเกิดเหตุมีผู้โดยสารอยู่บนรถไฟราว 650 คน ผู้โดยสารบางคนเล่าว่า ได้กลิ่นน้ำมันหลังจากรถไฟชน และผู้โดยสารจำนวนมากกรูกันไปที่ท้ายขบวนเพื่อออกจากรถ บ้างทุบกระจกเพื่อหาทางหนี และราว 400 คนไปหลบตั้งหลักที่โรงยิมปีนหน้าผาจำลองที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ รถดับเพลิง รถตำรวจ และรถพยาบาลหลายสิบคันรุมล้อมพื้นที่ดังกล่าว
เกรดี คอตเทน ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยของระบบรถไฟ อธิบายว่า ปกติแล้วทุกจุดตัดถนนข้ามทางรถไฟจะมีไม้กั้นที่ออกแบบมาให้ยกขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อกระทบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น รถที่วิ่งข้ามทางรถไฟเข้ามา อีกทั้งไม้กั้นก็ทำจากไม้ที่ออกแบบมาให้หักง่าย หากมีรถติดอยู่ระหว่างไม้กั้นสองด้าน
เมโทร-นอร์ธเป็นเส้นทางรถไฟสายที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดอันดับ 2 ของอเมริกา รองจากลองไอส์แลนด์ เรลโรด โดยเริ่มเปิดในปี 1983 ให้บริการผู้โดยสารราว 280,000 คนต่อวันในเส้นทางระหว่างนิวยอร์กกับคอนเนตทิคัต
หลังอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ต้องระงับการให้บริการสายฮาร์เล็ม ไลน์ ที่วิ่งระหว่างพลีแซนต์วิลล์กับนอร์ธ ไวท์ เพลนส์
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมโทร-นอร์ธถูกวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับอุบัติเหตุหลายครั้ง ปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติ (เอ็นทีบี) ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุ 5 ครั้งในนิวยอร์กและคอนเนตทิคัตระหว่างปี 2013-2014 ว่าเกิดจากข้อบกพร่องบนรางรถไฟ แม้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามในการปรับปรุงแล้วก็ตาม
หนึ่งในอุบัติเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2013 ที่รถไฟตกรางและมีผู้เสียชีวิต 4 คนในเขตบรองซ์ ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุครั้งแรกของรถไฟสายนี้ที่มีผู้เสียชีวิต โดยเอ็นทีบีระบุว่า วิศวกรควบคุมเผลอหลับ เนื่องจากมีอาการหยุดหายใจขณะหลับขั้นรุนแรงซึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัย
ต่อมาในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว สำนักงานการรถไฟกลางได้ออกรายงานระบุว่า ความใส่ใจในความปลอดภัยของเมโทร-นอร์ธย่อหย่อนลง ขณะที่พยายามรักษาตารางเวลาการเดินรถ ซึ่งผู้บริหารบริษัทรับปากว่า จะหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก