เอเอฟพี – รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาออกกฎหมายให้พนักงานทุกคนต้องมีวันหยุดอย่างน้อยปีละ 5 วันโดยไม่ถูกหักค่าจ้าง เพื่อลดปัญหาสุขภาพกายและจิตของชาวเมืองปลาดิบ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่หมกมุ่นกับงานมากเป็นพิเศษ
แรงงานชาวญี่ปุ่นมักใช้สิทธิ์ลาหยุดไม่ถึงครึ่งหนึ่งในแต่ละปี โดยผลสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่า ในปี 2013 พนักงานชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้วันหยุดกันเพียง 9 วัน ทั้งที่มีสิทธิ์ลาได้เฉลี่ย 18.5 วัน
ผลสำรวจอีกชิ้นยังพบด้วยว่า ในปี 2013 แรงงาน 1 ใน 6 ของญี่ปุ่นไม่ได้ใช้วันหยุดที่ได้รับค่าจ้างเลยแม้แต่วันเดียว
รัฐบาลโตเกียวตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้แรงงานใช้วันหยุดถึงร้อยละ 70 ภายในปี 2020 และเตรียมเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยจำนวนวันหยุดที่ได้รับค่าจ้างให้รัฐสภาพิจารณา
จากการอภิปรายเบื้องต้น สมาคมนายจ้างเสนอให้ลดวันหยุดที่ได้รับค่าจ้างลงเหลือเพียง 3 วันต่อปี ขณะที่สหภาพแรงงานเรียกร้องให้เพิ่มเป็น 8 วัน
วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นที่กำหนดช่วงเวลางานในแต่ละวันค่อนข้างยาว และไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตและโรคภัยไข้เจ็บในหมู่มนุษย์เงินเดือน
คำว่า “คาโรชิ” (karoshi) ซึ่งหมายถึง “ตายเพราะโหมงานหนัก” เพิ่งถูกบัญญัติลงในพจนานุกรมของญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว เนื่องจากพลเมืองปลาดิบเสียชีวิตหรือฆ่าตัวตายเพราะโรคเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ
ผลสำรวจโดยเว็บไซต์ท่องเที่ยวเอ็กซ์พีเดีย (expedia) พบว่า แรงงานในฝรั่งเศสมีสิทธิ์หยุดโดยได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 37 วันในปี 2010 และใช้วันหยุดถึงร้อยละ 93 ส่วนชาวสเปนและเดนมาร์กมีสิทธิ์ลาหยุดโดยได้รับค่าจ้าง 32 และ 29 วันตามลำดับ ซึ่งพวกเขาก็เลือกที่จะใช้สิทธิ์นั้นกว่าร้อยละ 90
วันหยุดนอกจากจะเป็นผลดีต่อสภาพร่างกายและจิตใจของคนทำงานแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเท่ากับส่งเสริมให้ประชาชนจ่ายเงินทำกิจกรรมสันทนาการมากขึ้น
ญี่ปุ่นมีวันหยุดราชการ 15 วันต่อปีซึ่งค่อนข้างมาก และไม่กี่ปีมานี้ก็มีผู้เสนอให้รัฐบาลเลื่อนวันหยุดให้มาต่อเนื่องกับช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีเวลาออกไปเที่ยวพักผ่อนในประเทศ
ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ญี่ปุ่นประกาศวันหยุดต่อเนื่อง 5 วันในเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน ซึ่งคาดว่าแรงงานบางส่วนอาจจะใช้สิทธ์ลาหยุดประจำปีร่วมด้วย เพื่อจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ยาวนานขึ้น