xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.ซูดานใต้ ยอมตกลงหยุดยิงกับผู้นำกบฏ “มาชาร์” หลังวิกฤตสู้รบยืดเยื้อนานนับปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ซัลวาร์ คีร์ แห่งซูดานใต้ (ซ้าย) ลงนามข้อตกลงหยุดยิงร่วมกับ รีค มาชาร์ ผู้นำกลุ่มกบฏ (ขวา) ณ กรุงแอดดิสอาบาบา เคนยา เมื่อวันอาทิตย์ (1 ก.พ.)
เอเอฟพี - เมื่อค่ำวานนี้ (1 ก.พ.) ประธานาธิบดีซัลวาร์ คีร์ แห่งซูดานใต้ และผู้นำกลุ่มกบฏ รีค มาชาร์ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงฉบับใหม่ เพื่อยุติสถานการณ์การสู้รบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 13 เดือน ในสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายหมื่นราย

เซยุม เมสฟิน ผู้แทนเจรจาจากกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก IGAD กล่าวกับผู้สื่อข่าว ณ กรุงแอดดิสอาบาบา ของเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นสถานที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงว่า “เป็นที่คาดหมายกันว่า สถานการณ์เลวร้ายในซูดานใต้จะยุติลงโดยสมบูรณ์ในช่วงเช้าวันนี้ (2)”

นับตั้งแต่การสู้รบเปิดฉากขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2013 ผู้นำทั้งสองเคยลงนามข้อตกลงหยุดยิงมาแล้วอย่างน้อย 6 ฉบับ ทว่าก็ไม่สามารถสงบศึกได้ตลอดรอดฝั่งแม้แต่ครั้งเดียว

กลุ่มประเทศ IGAD ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยขู่คว่ำบาตรซูดานใต้ หากคู่สงครามทั้งสองละเมิดข้อตกลงหยุดยิง แต่ไม่เคยลงมือทำจริงได้ระบุว่า หากคราวนี้ยังมีการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้นอีก พวกเขาจะนำเรื่องเข้าหารือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และคณะมนตรีสันติภาพและความมั่นคงของสหภาพแอฟริกา เพื่อขอให้มีการใช้ “มาตรการ (ลงโทษ) ขั้นรุนแรง” เมสฟินระบุ

ภายหลังการเจรจาหารืออย่างยากลำบากนาน 4 วัน ในเมืองหลวงของเอธิโอเปียผ่านพ้นไป คีร์ และมาชาร์ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการระงับความขัดแย้ง ที่ IGAD เสนอให้มีการจัดแจงแบ่งอำนาจปกครองแก่ทั้งประธานาธิบดี คีร์ และมาชาร์

“เราตกลงได้กันเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด” มาชาร์กล่าว หลังร่วมลงนามในข้อตกลง พร้อมทั้งกล่าวถึงความไม่ลงรอยกันในเรื่อง “โครงสร้างรัฐบาลรักษาการณ์” ซึ่งจะจัดตั้งขึ้น เพื่อแบ่งอำนาจความรับผิดชอบภายในคณะบริหารให้แก่ทั้งสองฝ่าย

บรรดาผู้แทนเจรจาจะหวนคืนสู้โต๊ะประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ โดย IGAD ยื่นคำขาดให้คู่สงครามทั้งสองบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายให้ได้ ภายในวันที่ 5 มีนาคมนี้

คณะผู้ไกล่เกลี่ยจากกลุ่มชาติ IGAD ได้แสดงความรู้สึกไม่พอใจออกมาอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังเข้าร่วมประชุมซัมมิตแก้ไขวิกฤตซูดานใต้เป็นครั้งที่ 8 แล้ว

ประธานาธิบดี อูฮุรู เคนยัตตา แห่งเคนยา กล่าวกับคีร์ และมาชาร์ ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนชาวซูดานได้คาดหวังจะได้รับจากผู้นำ ภายหลังต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไขว่คว้าอิสรภาพให้ซูดานใต้มานานหลายปี

ทั้งนี้ ซูดานใต้ได้รับอิสรภาพจากซูดานเป็นเมื่อปี 2011 ภายหลังเกิดการลุกฮือขึ้นจับอาวุธต่อสู้มานานหลายทศวรรษ

นายกรัฐมนตรี ไฮเลมาเรียม เดซาเลกน์ แห่งเอธิโอเปีย ได้กล่าวเตือนว่า หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกันอีกครั้ง ก็จะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อพวกเขาทุกคน โดยเฉพาะต่อบรรดาผู้นำซูดานใต้

นักการทูตตะวันตกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการเจรจาต่างมองข้ามความสำคัญของการทำข้อตกลงชั่วคราววานนี้ (1) โดยชี้ว่า ไม่ใช่การฝ่าทางตันที่สำคัญอะไรเลย และเป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆ ที่น่าจะทำได้ง่ายที่สุด

เมื่อเดือนธันวาคม 2013 เกิดการสู้รบปะทุขึ้นในซูดานใต้ ซึ่งเป็นประเทศน้องใหม่สุดของโลก เมื่อประธานาธิบดีคีร์กล่าวหารองประธานาธิบดีมาชาร์ ที่ถูกปลดจากตำแหน่งว่า พยายามทำรัฐประหารล้มล้างอำนาจเขา

นับแต่นั้นมาก็เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังที่ขึ้นตรงต่อคีร์ กับกลุ่มที่ภักดีต่อมาชาร์ ไปทั่วประเทศจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน ในวิกฤตความขัดแย้งที่มีกองกำลังจับอาวุธสู้กันถึง 20 หน่วย

คีร์ และมาชาร์ พบกันครั้งล่าสุด ที่กรุงแอดดิสอาบาบา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งสองตกลงสงบศึกในทันที ทว่ามีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวหลังเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง

การรบพุ่งที่กรุงจูบา เมืองหลวงของซูดานใต้ได้จุดชนวนให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปทั่วประเทศ จนฉุดประเทศนี้สู่ริมขอบเหวของวิกฤตการณ์อดอยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น