เอเอฟพี - ในสภาพที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ที่มีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงทะลุเพดานถึง 64% แต่กระนั้นประธานาธิบดีเวเนซุเอเลา นิโคลัส มาดูโร กลับยังทำประชานิยมต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาสภาพเศรษฐกิจด้วยการประกาศเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอีก 15% และมีแนวคิดที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศแบบหลายอัตราเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.)
“ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั้งหมดกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ประธานาธิบดีเวเนซุเอเลา นิโคลัส มาดูโร แถลงในการแถลงการณ์ประจำปีกับประชาชนชาวเวเนซุเอลาเมื่อวานนี้ (21) ในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 64% อาหารขาดแคลนและต้องใช้ระบบแบ่งปัน ซึ่งประชาชนในประเทศลาตินอเมริกานี้ตั้งความหวังว่าจะมีข่าวเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่
เอเอฟพีรายงานว่า อัตราแลกเปลี่ยนใหม่ที่จะนำมาใช้นี้ คาดว่าจะเป็น “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา” หรือ multiple exchange rate system ที่เป็นอัตราการแลกเปลี่ยนเงินที่แตกต่างกันสำหรับกรณีการส่งเงินออกนอกประเทศชนิดต่างๆ การจ่ายชำระหนี้การสั่งซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อประเทศก็อาจกำหนดอัตราให้ต่ำกว่าสินค้าที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงของผู้นำเวเนซุเอลา มาดูโรไม่ได้ให้รายละเอียดในการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่า ในตลาดมืดเวเนซุเอลา อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดอยู่ที่ 177 โบลิวาร์/1 ดอลลาร์ ซึ่งทีมเศรษฐกิจของมาดูโรจะเปิดเผยถึงระบบอราแลกเปลี่ยนใหม่ในเร็ววันนี้ มาดูโรแถลง
ทั้งนี้เป็นไปอย่างที่ทั่วโลกตระหนัก เศรษฐกิจเวเนซุเอลาดิ่งเหวลงก่อนหน้าที่จะเกิดราคาน้ำมันโลกตกต่ำ แต่กระนั้นเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาถูกทุบซ้ำอีกครั้งด้วยราคาน้ำมันดิบโลกที่ทรุดลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดผลจากที่รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมันถึง 96%
ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า เวเนซุเอลาซึ่งมีแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องการให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงอย่างน้อยบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์เพื่อรักษาสภาพสมดุลของงบประมาณประเทศ
แต่กระนั้นมาดูโรตระหนักว่า คงไม่ง่ายนักที่ราคาน้ำมันดิบจะหวนกลับไปที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างที่เป็นมาในอดีต และเป็นผลทำให้เขาเร่งที่จะต้องปรึกษาหารือถึงทางออกในการปรับเพิ่มราคาเพื่อชดเชยราคาน้ำมันที่ต่ำสุดในโลกในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเวเนซุเอลาในประเทศที่ผู้คนต่างรู้สึกว่า การได้ใช้น้ำมันราคาต่ำเป็นสิทธิพื้นฐานตั้งแต่แรกคลอด เพราะพบว่าราคาน้ำมันภายในประเทศไม่เคยปรับขึ้นเลยนับตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งในขณะนั้นการเพิ่มราคาน้ำมันและค่าการขนส่งสาธารณะเป็นผลทำให้เกิดการลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่ รวมไปถึงก่อจลาจล และมีการปล้นสะดม ซึ่งพบว่ามีผู้คนเสียชีวิตหลายร้อยคน
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า เฉพาะในปี 2013 พบว่าเวเนซุเอลาต้องใช้เงินถึง 15 พันล้านดอลลาร์เพื่อทำการชดเชยอย่างเดียว
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ เฆซัส คาซิค (Jesus Casique) ทวีตข้อความวิเคราะห์ถึงคำแถลงประจำปีของมาดูโรที่มีระยะเวลาร่วม 3 ชม.ว่า “เป็นประชานิยม และไม่มีความเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของเวเนซุเอลา”
ก่อนหน้านี้มาดูโรได้ออกเดินทางไปเยือนจีน และประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกต่างๆ รวมไปถึง รัสเซีย อิหร่าน และอัลจีเรียเพื่อร้องขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และต้องการให้มีการลดกำลังการผลิตเพื่อทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา คาราคัสล้มเหลวในการโน้มน้าวให้กลุ่มโอเปกประกาศลดกำลังการผลิตลง
/center>