เอเจนซีส์ - หลังจากที่ประชุมโอเปกตัดสินใจไม่อนุญาตให้เวเนซุเอลาลดกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อสู้กับระดับราคาพลังงานที่ลดต่ำ เป็นผลทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาต้องพยายามอย่างหนักในการหาความช่วยเหลือด้านการเงินมาพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงแผนการรัดเข็มครั้งใหญ่ด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจลง 20 % และมีความพยายามไปถึงระบบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
“เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลเวเนซูเอลาพยายามที่จะส่งสัญญาณไปให้ตลาดรับรู้ในความพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศเพื่อที่จะยังทำให้เวเนซุเอลามีความสามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้ และรวมไปถึงยังคงทำตามนโยบายด้านสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเมืองของเวเนซุเอลายังคงมีเสถียรภาพ” ดิเอโก โมยา-โอแคมโปส (Diego Moya-Ocampos) นักวิเคราะห์อาวุโสด้านความเสี่ยงทางการเมืองประจำ IHS กล่าว และเสริมต่อว่า "แต่ทว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า นโยบายปรับสภาพพวกนี้ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา แต่กลับชี้ว่า รัฐบาลเวเนซุเอลาพยายามอย่างหนักในการควานหาเงินก้อนโตเพื่อจะมาอุดรายได้จำนวนมากที่สูญไปเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกที่กำลังดิ่งเหว"
ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (oil prices- Brent crude )ที่ดิ่งหัวลงทำลายสถิติต่ำสุดในรอบ 5 ปีล่าสุดนั้นทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาต้องออกมารับมืออย่างรวดเร็ว เพราะถือเป็น 95% ของรายได้จากการส่งออกของประเทศ
ซึ่งบาเคลย์ได้วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะหดตัวลง 6.2 % และอัตราเงินเฟ้อจะทะลุ 120 % ในปี 2015 ส่วน IMF ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวเนซุเอลาจะต่ำเกินกว่า 1 %
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โรโดลโฟ มาร์โก ตอร์เรส รัฐมนตรีการคลังของเวเนซุเอลาได้บินด่วนไปจีนเพื่อหาเงินกู้ก้อนใหม่ และคาดว่าจะเดินทางต่อไปยังอิหร่านและรัสเซียในจุดประสงค์เดียวกัน
ในขณะที่ ฟรานซิสโก โรดรีเกซ (Francisco Rodriguez ) นักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ออฟอเมริกาให้ความเห็นว่า " ดังนั้นเราจึงตั้งข้อสงสัยจากความเป็นไปได้ในแผนของทีมเศรษฐกิจเวเนซุเอลาที่จะหว่านล้อมเครดิเตอร์ต่างชาติ ที่รวมถึง จีน ในการเดินทางไปเยือนในสัปดาห์นี้จะมีผลตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างที่หวังหรือไม่"
ทั้งนี้เป็นเพราะจีนได้เคยให้ความช่วยเหลือเวเนซุเอลาทางเศรษฐกิจร่วมหลายสิบพันล้านดอลลาร์ และคาราคัสทะยอยจ่ายในรูปการส่งน้ำมัน โดยพบว่าครึ่งหนึ่งของน้ำมันที่เวเนซุเอลาส่งออกไปยังจีนนั้นถูกใช้เป็นการชำระหนี้ค้างจ่ายให้กับปักกิ่ง
แต่ด้วยสภาพง่อนแง่นทางการเมืองอาจส่งผลให้จีนตัดลดความช่วยเหลือ ซึ่งถือว่าจีนในขณะนี้เป็นเสมือนเครื่องให้ออกซิเจนกับเวเนซุเอลา นักวิเคราะห์กล่าว
“หากจีนปัดให้ความช่วยเหลือ จะทำให้เวเนซุเอลาไม่มีทางเลือกมากนักหลงเหลืออยู่” เอริก ฟาร์นเวิร์ธ(Eric Farnsworth) รองประธานสภาทวีปอเมริกาและอเมริกาโซไซตีให้ความเห็น
แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ยังมีอีกทางเลือกที่เวเนซุเอลาจะสามารถกระทำได้คือการเดินเข้าหาวอลสตรีท โดย CBS รายงานอ้างจากแหล่งข่าวใกล้ชิดเมื่อวานนี้(8)ว่า เวเนซุเอลาได้มีการเจรจากับบ.โกลแมนแซคส์ (Goldman Sachs) เพื่อเจราจาขายก้อนหนี้ของสาธารณรัฐโดมินิกัน และจาไมกาที่เวเนซุเอลาถืออยู่ในราคาลดต่ำมากที่สุด
โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในขั้นนี้การเจรจายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่การตกลงประเภทนี้จะทำให้หนี้ที่ทั้งโดมินิกันและจาไมกามีภาระผูกพันชำระต่อเวเนซุเอลาภายใต้ความร่วมมือ Petrocaribe alliance นั้นแปลงสภาพไปเป็นตราสารหนี้ที่จะทำให้คาราคัสสามารถขายต่อให้กับบรรดานักลงทุนได้ ซึ่งความร่วมมือPetrocaribe alliance นั้นประกอบไปด้วย 18 ประเทศสมาชิกที่มีเวเนซุเอลาเป็น 1 ในนั้นจำหน่ายน้ำมันให้กับสมาชิกในราคาต่ำ
และแหล่งข่าวยังให้ความเห็นว่า การเคลื่อนไหวในการเจรจาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อทางโกลแมนแซคส์ ที่จะสามารถช้อนซื้อตราสารหนี้ในราคาที่ต่ำกว่าปกติ และไม่ต้องถือเป็นเวลานาน
นอกจากนี้สื่อสหรัฐฯยังรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันพฤหัสบดี(4)ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวเนซุเอลาประกาศเพิ่มให้เพชร ทองคำและอัญมนีอื่นๆที่มีค่าอื่น รวมถึงเงินตราต่างชาติ ใช้เป็นการประกันเงินสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเวเนซุเอลาลดต่ำกว่า 1 ใน 4 และเป็นผลทำให้เจ้าหนี้ต่างชาติกังวลถึงความสามารถของคาราคัสในการชำระหนี้ ซึ่งเวเนซุเอลาได้ใช้เงินกู้จากจีนร่วม 4 พันล้านดอลลาร์ในการเพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
แต่ถึงแม้ความพยายามล่าสุดของคาราคัสในการทำให้ประเทศมีสภาพคล่องทางการเงิน แต่บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า ยังไม่เพียงพอ
“นี่ไม่ใช่หนทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวจนกว่าเวเนซุเอลาจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ การคลัง และงบดุลการใช้จ่ายประจำปีของประเทศใหม่” ออสวาลโด รามิเรซ ( Oswaldo Ramirez) ประธานบ.ที่ปรึกษาทางการเมือง ORC Consultores, ให้ความเห็น