xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือสหรัฐฯ เตรียมใช้เรือตรวจการณ์ไร้คนขับภายใน 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือตรวจการณ์ไร้คนขับขนาดเล็ก 13 ลำ ทำการสาธิตภารกิจคุ้มกันเรือลำใหญ่ที่แม่น้ำเจมส์ ในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
เอเอฟพี - กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุ อีกไม่นานจะมีการใช้เรือตรวจการณ์ติดอาวุธที่ควบคุมด้วยจักรกล แบบไม่มีลูกเรือ เพื่อทำหน้าที่คุ้มกัน ตามเส้นทางเดินเรือที่เกิดปัญหาได้ง่าย

เทคโนโลยีที่ใช้ในเรือแบบใหม่นี้ ผ่านการดัดแปลงมาจากยานสำรวจบนดาวอังคารของนาซา ได้ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการของกองทัพเรือสหรัฐฯ และน่าจะก่อให้เกิดคำถามและความกังวลเกี่ยวกับบทบาทที่มากขึ้นของการใช้จักรกลในสงคราม

สำนักงานวิจัยของกองทัพเรือได้ออกรายงานใหม่ในวันอาทิตย์ (5 ต.ค.) ที่เป็นผลการสาธิตครั้งประวัติการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม เกี่ยวกับการใช้เรือตรวจการณ์ที่ควบคุมด้วยจักรกล 13 ลำ ทำการคุ้มกันเรือลำหนึ่งในแม่น้ำเจมส์ ที่รัฐเวอร์จิเนีย

ในสถานการณ์จำลอง เรือที่ควบคุมด้วยจักรกล 5 ลำ ได้ทำการคุ้มกันเรือที่มีขนาดใหญ่ลำหนึ่ง ขณะที่อีก 8 ลำ ได้รับคำสั่งให้ทำการตรวจสอบเรือต้องสงสัย

บรรดาเรือตรวจการณ์ไร้คนขับ ได้เข้าล้อมและรุมจัดการเป้าหมาย เพื่อเปิดทางให้เรือแม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างปลอดภัยผ่านบริเวณนั้น

พลเรือตรี แมทธิว คลุนเดอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยกองทัพเรือ ระบุว่า การสาธิตดังกล่าวที่ดำเนินการกว่า 2 สัปดาห์ ได้จำลองสถานการณ์ การขนส่งผ่านช่องแคบต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อาทิ การขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา หรือช่องแคบฮอร์มุซ

เขาระบุว่า การสาธิตครั้งนั้นมีความคืบหน้าแบบก้าวกระโดด เหนือกว่าที่เคยได้จากการทดลองครั้งก่อนๆ และน่าจะมีเรือตรวจการณ์ควบคุมด้วยจักรกลลักษณะนั้น ออกคุ้มกันเรือของกองทัพสหรัฐฯ ได้ภายใน 1 ปี

เรือตรวจการณ์รุ่นใหม่นี้ เป็นเรือยางท้องแข็งขนาดความยาว 11 เมตร ที่ปกติแล้วจะใช้ปฏิบัติหน้าที่โดยมีลูกเรือ 3 - 4 คน แต่เมื่อนำมาติดตั้งระบบการควบคุมด้วยจักรกล ทำให้ลูกเรือเพียงแค่คนเดียวสามารถควบคุมดูแลเรือเหล่านี้ได้ถึง 20 ลำ

ไม่มีการยิงกระสุนเกิดขึ้นในระหว่างการสาธิต แต่คลุนเดอร์ก็ระบุว่า เรือตรวจการณ์เหล่านี้สามารถติดตั้งอุปกรณ์อย่าง แสงและเสียงสัญญาณเตือน รวมถึงปืนกลขนาด .50 อีกทั้งยังสามารถทำการยิงเข้าใส่เรือศัตรูได้ หากถูกสั่งการจากผู้ควบคุม

“เราตั้งใจที่จะใช้บรรดายานยนต์ไร้คนขับเหล่านี้รับมือกับภัยคุกคามต่างๆ” เขากล่าว

ในการสาธิต นักวิจัยได้ติดตั้งระบบป้องกันความผิดพลาด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุร้าย ถ้าในกรณีที่การสื่อสารของเรือตรวจการณ์เหล่านี้เสียหาย เรือพวกนี้จะลอยนิ่งอยู่เหนือน้ำทันที หากเรือเกิดความผิดปกติใดๆ ก็จะมีระบบสื่อสารอีก 2 ส่วนที่จะใช้ในหยุดการทำงานของเรือ

เรือตรวจการณ์เหล่านี้ต่างจากอากาศยานไร้คนขับ “โดรน” ตรงที่สามารถควบคุมตัวเองได้อย่างมีอิสระมากกว่า รวมถึงออกปฏิบัติการได้โดยที่ไม่ต้องควบคุมด้วยมนุษย์ในทุกขั้นตอน

“ความน่าตื่นเต้นของเทคโนโลยีนี้คือมันสามารถควบคุมตัวเองได้ เราไม่ได้พูดถึงการที่จะต้องมีมนุษย์คอยขับเรือเหล่านี้ผ่านเครื่องควบคุม” คลุนเดอร์ กล่าว

เรือเหล่านี้เคลื่อนที่โดยมีการประสานกับเรือไร้คนขับลำอื่นๆ เพื่อเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดเมื่อตรวจเจออุปสรรค ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ มองว่านวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตลูกเรือและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกองทัพ

คลุนเดอร์ ระบุว่า เทคโนโลยีนี้ ทางกองทัพเรือขนานนามว่า “คาราคัส” เป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำมาก และสามารถติดตั้งได้ง่ายบรเรือตรวจการณ์และเรือชนิดอื่นๆ

“เราไม่ได้พูดถึงเงินหลักล้าน เรากำลังพูดถึงเงินหลักพันดอลลาร์ สำหรับการดัดแปลงกองเรือที่เรามีอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นจะต้องซื้อเรือใหม่” เขากล่าว

คลุนเดอร์ ระบุอีกว่า ระบบนี้สามารถนำไปติดตั้งบนเรือขนาดใหญ่ของกองทัพได้ด้วย แถมเรือตรวจการณ์เหล่านี้ก็ยังคงใช้ขนส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ดังเช่นที่เคยใช้อยู่แล้ว ด้วยเวอร์ชั่นที่ควบคุมด้วยมนุษย์

คลุนเดอร์ ระบุว่า หน่วยงานอื่นของภาครัฐฯ และบรรดาองค์กรเอกชน ต่างก็กำลังมองหาเรือแบบไร้คนขับอยู่เช่นกัน ทีมวิจัยได้สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อรักษาชีวิตลูกเรือและเหล่านาวิกโยธิน เพื่อปกป้องเรือลำอื่นๆ รวมถึงปกป้องท่าเรือด้วย

ทางกองทัพเปิดเผยข้อมูลของเทคโนโลยีนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปีของเหตุโจมตีเรือพิฆาต “ยูเอสเอส โคล” บริเวณแถบชายฝั่งเยเมน

การโจมตีที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2000 ด้วยการใช้เรือเล็กก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายใกล้กับเรือพิฆาตลำดังกล่าว ด้วยฝีมือของกลุ่มอัลกออิดะห์ ได้ทำให้มีลูกเรือเสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บอีก 39 ราย

“ถ้าเรามีเทคโนโลยีนี้ในวันนั้น ผมแน่ใจว่าเราคงรักษาเรือลำนั้นเอาไว้ได้” คลุนเดอร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น