ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน รวมไปถึงค่าเงินรูเบิลรัสเซียที่ดิ่งเหวเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถึงกระนั้นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือ “โอเปก” ก็ยังยืนกรานที่จะคงระดับการผลิตไว้เท่าเดิม ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ราคาน้ำมันตกต่ำจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก เข้าตำรามี “ผู้แพ้” ก็ต้องมี “ผู้ชนะ”
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. กลุ่มชาติโอเปกซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบียได้ตัดสินใจคงกำลังการผลิตที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ดิ่งลงทันที 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเปิดตลาดวันศุกร์(28 พ.ย.) และยังคงดิ่งแรงต่อเนื่องมาจนถึงวันจันทร์ (1 ธ.ค.) ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ประเทศสมาชิกรายย่อยอย่างเวเนซุเอลากลับต้องการให้โอเปกลดกำลังผลิต เพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปกแถลงเมื่อวันจันทร์(1) ว่า เห็นด้วยกับการตัดสินใจของโอเปก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ริยาดทำเช่นนี้เพราะต้องการให้ผู้ผลิตน้ำมันหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งสมาชิกโอเปกบางประเทศต้องพลอยฟ้าพลอยฝน โดยหวังผลในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดระยะยาว เพราะสภาพเศรษฐกิจของริยาดเองยังสามารถทนต่อราคาน้ำมันที่ตกต่ำได้อีกนานพอสมควร
นับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบ 40% โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลผลิตน้ำมันหินดินดานของสหรัฐฯที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตสูงเกินกว่าอุปสงค์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป
ทั้งนี้ หากสมาชิกโอเปก 12 ประเทศซึ่งผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกถึง 1 ใน 3 ดำเนินการลดกำลังผลิตเพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของคู่แข่ง พวกเขาก็เสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับเหล่าชาติผู้ผลิตน้ำมันจากหินดินดานในอเมริกาเหนือ แต่อีกด้านหนึ่งหากตัดสินใจคงกำลังผลิตในปัจจุบันก็เท่ากับว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งของตลาด
นักวิเคราะห์มองว่า สงครามราคาครั้งนี้อาจทำให้น้ำมันหินดินดานสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันต่อโอเปกในระยะยาว
ราคาน้ำมันที่ตกต่ำยังส่งผลกระทบถึงประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกพลังงาน โดยเฉพาะรัสเซียซึ่งค่าเงินรูเบิลดิ่งลง 9% มาอยู่ที่ 53.9 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 67 รูเบิลต่อ 1 ยูโร ในวันจันทร์(1 ธ.ค.) ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าหนักสุดในรอบวัน นับตั้งแต่ปี 1998
เงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าลงเกือบ 60% ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ ตลอดจนมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่หมายบีบรัสเซียให้เลิกสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน
รัสเซียนั้นมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กังวลว่า เศรษฐกิจแดนหมีขาวเริ่มส่อสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่รัฐบาลมอสโกยังดึงดันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องยูเครน
อุปสงค์น้ำมันที่ลดลงในยุโรป ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เสื่อมถอย ทำให้รัสเซียตัดสินใจระงับโครงการสร้างท่อส่งก๊าซเซาธ์สตรีม (South Stream) ซึ่งจะลอดผ่านทะเลดำเข้าสู่บัลแกเรียและต่อไปยังสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่โครงการนี้จะช่วยให้รัสเซียสามารถส่งก๊าซธรรมชาติเข้าถึงแผ่นดินยุโรปได้โดยไม่ต้องผ่านยูเครนปีละ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 10% ของความต้องการใช้ก๊าซในยุโรป
เวเนซุเอลา ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จากละตินอเมริกา ก็เริ่มหามาตรการบรรเทาความเสียหายจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ได้ออกคำสั่งตัดทอนงบประมาณรายจ่ายภาครัฐเมื่อวันศุกร์ (28 พ.ย.) โดยให้หั่นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐบาลตั้งแต่ระดับกระทรวงไปจนถึงรัฐวิสาหกิจ ไม่เว้นกระทั่งเงินเดือนของประธานาธิบดีเอง
รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ซึ่งปัจจุบันมีหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานซึ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจ
ด้าน คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กลับมีมุมมองต่อวิกฤตราคาน้ำมันไปในเชิงบวก โดยชี้ว่าราคาน้ำมันซึ่งตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนอาจกระทบต่อผู้ส่งออกน้ำมันดิบบางราย แต่ในภาพรวมถือว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถใช้พลังงานได้ในราคาที่ถูกลง และอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาสูงสุดให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.8%
“งานนี้จะมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ แต่โดยพื้นฐานสุทธิถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลก” บอสหญิงไอเอ็มเอฟ วัย 58 ปี กล่าวในการประชุมผู้นำภาคธุรกิจซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิล ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.