เอเจนซีส์ - บีบีซี สื่ออังกฤษวิเคราะห์ถึงเสียงตอบรับจากประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป รวมไปถึงยูเครน ในผลกระทบจากการยกเลิกโปรเจกต์ท่อส่งก๊าซใต้ “ซาท์สตรีม” ข้ามทะเลดำมายังฝั่งยุโรปที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศยกเลิกอย่างกระทันหันในระหว่างการเยือนตุรกีเมื่อวันจันทร์(1)
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้(3)ถึงความเคลื่อนไหวหลังจากในช่วงการเยือนตุรกี ในวันจันทร์(1) ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศยกเลิกแผนการมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์ สร้างท่อส่งก๊าซ “เซาท์สตรีม” โดยให้เหตุผลว่า “รัสเซียไม่อาจดำเนินการได้โดยลำพัง โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากบัลแกเรียและสหภาพยุโรป” แต่เขาได้เสนอทางเลือกโดยการขนส่งทางเรือข้ามทะเลดำเพื่อมาขึ้นฝั่งเทียบท่าที่ตุรกีแทน
สื่ออังกฤษรายงานว่า ปฎิกริยาตอบกลับมาจากการประกาศนั้นมีทั้ง ประหลาดใจ โล่งอก และไม่เห็นด้วยขึ้นในบรรดาประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า ควบคู่กับแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ ดูเหมือนรัสเซียจะใช้อุตสาหกรรมการพลังงานของประเทศเปิดประตูไปสู่อิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในประชาคมโลก ดังนั้นการตัดสินใจล่าสุดในการยุติโครงการท่อส่งก๊าซเซาท์สตรีมที่มีมูลค่าสูงถึง 50 พันล้านดอลลาร์ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนทิศทางยุทธศาสตร์โดยสิ้นเชิง
“บางทีอาจเป็นแค่คำขู่” มาร์ติน วลาดิมิรอฟ (Martin Vladimirov) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานประจำศูนย์การศึกษาประชาธิปไตยในกรุงโซเฟีย บัลแกเรีย กล่าว และเสริมว่า “เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลบัลแกเรีย เซอร์เบีย ฮังการี และออสเตรีย ยอมรับปากร่วมมือกับเครมลินเพื่อให้โปรเจกต์รุดหน้า และสามารถต่อรองกับคณะกรรมาธิการยุโรป”
แต่อย่างไรก็ตาม วลาดิมิรอฟดูเหมือนจะเห็นพ้องกับคำอธิบายแนวทางที่สองมากกว่าที่เห็นได้ชัดว่า ในสภาพที่เศรษฐกิจรัสเซียตกต่ำผลมาจากการรวมหัวคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้ “เมก้าโปรเจกต์เซาท์สตรีมกลายเป็นภาระทางบัญชีที่รัสเซียไม่สามารถจะแบกรับได้” รวมไปถึงความต้องการพลังงานของยุโรปลดลง และไม่จำเป็นต้องพึงพานำเข้าก๊าซจำนวน 63 พันล้านคิวบิกเมตรต่อปีที่จะส่งผ่านท่อส่งก๊าซเซาท์สตรีมจากรัสเซียอีกต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญพลังงานจากบัลแกเรียได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ท่อส่งก๊าซนอร์ทสตรีมนั้นในปัจจุบันได้ขนส่งพลังงานจำนวนเพียงเสี้ยวเดียวของศักยภาพที่สามารถทำได้ และมีแต่จะทำให้รัสเซียต้องขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นทำให้วลาดิมิรอฟเชื่อว่า “กาซปรอม” บริษัทพลังงานที่มีเจ้าของเป็นรัฐบาลหมีขาวได้หันทิศทางหาลู่ทางทำตลาดใหม่ไปทางตะวันออก “เชื่อได้ว่าทางบริษัทมีความต้องการเม็ดเงินร่วม 100 พันล้านดอลลาร์ในอีก 4-5ปีข้างหน้าเพื่อพัฒนาหลุมก๊าซไซบีเรียตะวันออก และสร้างระบบท่อส่งก๊าซไปยังจีน” วลาดิมิรอฟกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม วอลสตรีทเจอร์นัลด์ชี้ว่า นักวิเคราะห์ตะวันตกไม่เชื่อว่ารัสเซียจะสามารถหาตลาดใหม่มาทดแทนตลาดยุโรปที่จะสามารถจำหน่ายพลังงานได้เป็นจำนวนมากอย่างเช่นปูตินอ้างในแถลงการณ์ที่กรุงอังการาในวันจันทร์(1)
คริสเตียน เอเกนโฮเฟอร์ ( Christian Egenhofer) ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงประจำสถาบัน Centre for European Policy Studies ให้ความเห็นว่า “ไม่มีตลาดพลังงานใหม่นอกยุโรปสำหรับรัสเซีย ดังนั้นนี่ไม่ใช่เป็นคำขู่แต่อย่างใด”
และบีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า การยุติโปรเจกต์เซาท์สตรีมทำให้ประเทศในยุโรป เช่น ฮังการี เซอร์เบีย รวมไปถึง บริษัทพลังงานOMV ของออสเตรีย และบริษัทพลังงาน ENI สัญชาติอิตาเลียนตกที่นั่งลำบาก
ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานเมื่อวานนี้(2)ว่า หลังคำประกาศของปูตินในการระงับอภิมหาโครงการมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์สืบเนื่องมาจาก สหภาพยุโรปลังเลที่จะอนุญาตให้กาซปรอมสร้างระบบท่อส่งก๊าซข้ามทะเลดำมายังบัลแกเรีย ด้วยเกรงว่ารัสเซียจะเป็นผู้ผูกขาดด้านพลังงานในยุโรป และยังอ้างว่าเป็นการผิดกฏหมายสหภาพยุโรปที่บริษัทกาซปรอมของรัสเซียจะเป็นทั้งเจ้าของระบบท่อส่งก๊าซและเป็นผู้จัดจำหน่ายในเวลาเดียวกัน และเกรงด้วยว่าโปรเจกต์เซาท์สตรีมจะส่งเสริมการคอรัปชัน โดยทางคณะกรรมาะการยุโรปได้เริ่มการตรวจสอบกระบวนการอนุญาตให้ระบบท่อส่งก๊าซขึ้นฝั่งจากทะเลดำในบัลแกเรียนั้นมีความโปร่งใสหรือไม่
และนอกจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ร้องขอให้ประเทศสมาชิกหยุดการก่อสร้างส่วนต่างๆที่จะเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซจากรัสเซียมายังบัลแกเรีย และทำให้รัสเซียไม่สามารถเดินหน้าวางระบบท่อส่งก๊าซข้ามทะเลดำมาได้
ซึ่งมติของสหภาพยุโรปสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่ม 28ชาติที่ไม่เห็นด้วย โดยบัลแกเรีย เซอร์เบีย และฮังการีให้ความเห็นเมื่อวานนี้(2)ว่า ประเทศพวกเขาไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าในการระงับโครงการนี้ถึงแม้ประเทศเหล่านี้ต่างมีส่วนร่วมลงทุนทั้งด้านการเงินและการเมืองในโปรเจกต์นี้ร่วมกับรัสเซียก็ตาม รวมถึงหวังว่าจะได้รับรายได้จากค่าธรรมเนียมท่อส่งก๊าซผ่านดินแดนเหล่านี้ที่ล้วนมีปัญหางบประมาณขาดดุลทั้งสิ้น
บีบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า ในระบบการส่งก๊าซเข้าสู่ยุโรป ก๊าซส่วนใหญ่จะตรงไปยัง Central European Gas Hub ที่ Baumgarten ในออสเตรียซึ่งบริษัทแห่งนี้รัสเซียถือหุ้นบางส่วน โดยคาดกันว่า 1 ใน 3 ของจำนวนก๊าซทั้งหมดจากรัสเซียจะผ่านมาที่Central European Gas Hub แต่เมื่อบัลแกเรียได้ระงับการก่อสร้างที่วาร์นา ( Varna ) บนชายฝั่งทะเลดำซึ่งจะเป็นจุดที่ท่อส่งก๊าซขึ้นฝั่ง ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงกับโปรเจกต์
ในขณะที่ ปีเตอร์ สซิจาร์โท (Peter Szijjarto) รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการีให้ความเห็นเมื่อวานนี้(2)ว่า “ฮังการีคงต้องหาวิธีใหม่ในการหาพลังงานเพื่อมาป้อนความต้องการในประเทศเนื่องมาจากการตัดสินใจของรัสเซีย”
แต่ในทางตรงกันข้าม ปฎิกริยาจากยูเครนดูเหมือนจะโล่งใจหลังจากได้ยินคำประกาศยุติโครงการนี้ “การสั่งยุติโปรเจกต์ท่อส่งก๊าซเซาท์สตรีมเนื่องมาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วซ่อนเหตุผลทางการเมืองไว้อยู่เบื้องหลัง” แอนดรี ติอูริน (Andrii Tiurin ) จากบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครน Energoatom ให้ความเห็น
และกล่าวต่อว่า “ทำไมจึงต้องเสียเงินมากมายในการสร้างระบบท่อส่งก๊าซอีกเส้นเพื่อจะส่งก๊าซธรรมชาติที่มีเส้นทางอื่นขนส่งอยู่แล้ว และในขณะที่ราคาน้ำมันโลกตกต่ำเช่นนี้ ทำไมยังต้องทุ่มเงินมากมายในโปรเจกต์ที่ยุโรปไม่ต้องการ”
นอกจากนี้บีบีซียังชี้ถึงลู่ทางใหม่ที่ยุโรปจะไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอีกต่อไป โดยชี้ว่า ระบบท่อส่งก๊าซของรัสเซียที่มาจากตะวันออกไปยังตะวันตกนั้นถูกสร้างมาตั้งแต่ในยุคอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญพลังงานในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางชี้ว่า ยุโรปน่าจะมุ่งไปที่เส้นยุโรปเหนือไปยุโรปใต้มากกว่า
โปรเจกต์ท่อส่งพลังงานจากฮังการีไปยังสโลวาเกียมีกำหนดจะเปิดในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ รวมถึงโปรเจกต์ระบบท่อส่งพลังงานจากฮังการีไปโรมาเนียด้วยเช่นกัน และพบว่าสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว((LNG)ในSwinoujscie โปแลนด์ รวมถึงที่ Klaipeda ลิทัวเนีย และOmisalj โครเอเชีย ที่คาดกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลวจะถูกขนส่งมาจากกาตาร์ แอฟริกาเหนือ และอาจรวมไปถึงสหรัฐฯในอนาคตจะกลายเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานแห่งใหม่ให้กับยุโรป
และตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป ก๊าซจากอาเซอร์ไบจานจะส่งเข้ายุโรปผ่านระบบท่อส่งก๊าซ Trans Adriatic pipeline (TAP)
บีบีซียังให้ความเห็นเพิ่มเติมปิดท้ายว่า จากสถานะความสัมพันธ์ที่สั่นคลอนระหว่างตะวันตกและรัสเซีย ทำให้ประเทศต่างได้โอกาสต่อรองราคาก๊าซให้ต่ำลงกับกาซปรอมได้มากขึ้น